วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

ตำนานรักอมตะ : ขูลู-นางอั้ว


ตำนานรักอมตะ : ขูลู-นางอั้ว
********************************
ก. มูลเหตุจูงใจ
        ในวัยเด็กผู้เขียนก็เคยได้ยินได้ฟังผู้ใหญ่เล่านิทานเรื่อง “ขูลู-นางอั้ว” นี้ให้ฟังบ่อยๆ และก็ยังมีหมอลำอีสานทั้ง “ลำเพลิน” และ “ลำเรื่องต่อกลอน” ได้แสดงและเล่นให้ดูให้ฟังบ่อยๆ เหมือนกัน 
        ซึ่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็อยากจะอ่านนิทานที่มีตำนานและเป็นเรื่องจริงชีวิตของคนจริงๆ ที่มิใช่นิยายปรัมปราแต่อย่างใด 
        เพื่อศึกษาให้เข้าใจและลึกซึ้งใน “กฎแห่งกรรม” และ “การเวียนว่ายตายเกิด” ของเวไนยสัตว์ 
        โดยเฉพาะมนุษย์เรานี้ ว่าเป็นจริงและสอดคล้องกันหรือเปล่า เพื่อความเชื่อมั่นและเข้าใจลึกซึ้งในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และเพื่อทำการเผยแพร่เป็น “ธรรมทาน” ในการสร้างสมคุณงามความดีและบารมีให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไปนั้นเอง
        แต่เรื่องนี้มีหลายตำนานและหลายที่มา ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ ยังมีสิ่งที่ตรงกันอยู่ก็คือ “ท้าวขูลู” “นางอั้ว” “ขุนลาง” และ “สวนส้ม” ไม่ว่าจะมีที่มาจากที่ต่างกันอย่างไรก็ตาม

ข.  เนื้อเรื่องโดยย่อ
        “ท้าวขูลู”เป็นโอรสของ “ท้าวพรมสี” และ “พระนางพิมพากาสี” ซึ่งเป็นกษัตริย์และราชินีแห่ง “นครกาสี” 
        ส่วน “นางอั้วเคี่ยม” หรือ “นางอั้ว” นั้นเป็นธิดาของ “ท้าวปุตตาลาด” และ “พระนางจันทา” ซึ่งเป็นกษัตริย์และราชินีแห่ง “กายนคร” 
        โดยที่กษัตริย์และราชินีของทั้งสองเมืองนี้ เป็นเพื่อนที่สนิทและร่วมน้ำสาบานกัน และยังได้ตกลงกันไว้ว่าถ้ามีโอรสเหมือนกันจะให้เป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าต่างเพศกันจะให้แต่งงานกัน 
        ซึ่งทั้งสองเมืองก็ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ในคราวหนึ่งพระนางจันทา ซึ่งกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ และกำลังแพ้ท้องได้ไปเยี่ยมพระนางพิมพากาสีที่นครกาสี 
        ซึ่งพระนางพิมพากาสีก็ทรงครรภ์อ่อนๆ เช่นเดียวกัน และทั้งคู่ได้พากันไปประพาสอุทยาน ครั้นเสด็จผ่านสวนส้มเกลี้ยง (ส้มโอ) พระนางจันทารู้สึกหิวอยากเสวยผลส้มมาก 
        จึงขอจากพระนางพิมพากาสี แต่นางไม่ให้เพราะส้มนั้นยังไม่สุก ทำให้พระนางจันทาโกรธมากและผูกใจเจ็บอย่างยิ่ง
        หลังจากนั้นไม่นาน พระนางพิมพากาสีก็คลอดลูกออกมาเป็นชายให้ชื่อว่า “ขูลู” 
        ส่วนพระนางจันทาก็คลอดลูกออกมาเป็นหญิงให้ชื่อว่า “นางอั้ว” 
        ซึ่งทั้งคู่นั้นเกิดปีเดียวกัน ต่างก็ได้รับการอบรมและเลี้ยงดูอย่างดี เมื่อท้าวขูลูอายุ ๑๕ ปี ก็ได้มาเยิ่ยมชมและมอบเครื่องบรรณาการแก่เมืองกายนคร และได้มีโอกาสพบเจอและรู้จักกับนางอั้ว 
        โดยเมื่อแรกพบทั้งคู่ก็รู้สึกรักใคร่ และชอบพอกันตั้งแต่แรกพบเลยทีเดียว อันเนื่องด้วยบุพเพสันนิวาสนั้นเอง 
        เมื่อท้าวขูลู กลับมาที่เมืองของตนก็รู้สึกคิดถึงนางอั้วใจจะขาด อยากจะได้นางอั้วมาเป็นมเหสี จึงได้รบเร้าบิดามารดาให้ไปสู่ขอนางอั้วให้กับตน 
        บิดาและมารดาก็ได้แต่งให้แม่สื่อไปสู่ขอทาบทามนางอั้วให้กับท้าวขูลู แต่พระนางจันทาไม่ยอมยกให้ เมื่อแม่สื่อกลับมาบอกท้าวขูลู ทำให้ท้าวขูลูโศกเศร้าเสียใจมาก
        ฝ่าย “ขุนลาง” กษัตริย์แห่ง “เมืองขอมภูเขาก่ำ” (เขมรป่าดง หรือชาวป่าสักยันต์ขาลายสีดำ) เป็นชนเผ่าที่ยังไม่เจริญ 
        เมื่อได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือว่านางอั้วเคี่ยม มีความงดงามมากก็อยากได้ไปเป็นมเหสีเช่นกัน จึงได้ส่งเครื่องบรรณาการต่างๆ มาให้พระนางจันทาอยู่บ่อยๆ 
        และด้วยฤทธิ์มนต์คาถาของขุนลาง ที่ติดมากับเครื่องบรรณา การเหล่านั้น ก็ทำให้นางจันทาเกิดความพึงพอใจขุนลาง อยากได้เป็นลูกเขย 
        แต่นางอั้วเคี่ยม เมื่อรู้ข่าวก็เสียใจและไม่ยอมรับ โดยอ้างว่าขุนลางเป็นคนนอกศาสนา ไม่นับถือพระธรรม 
        แต่นางจันทาได้ส่งแม่สื่อไปยอมรับคำสู่ขอนั้น และรับปาก ขุนลางว่าจะปลอบประโลมนางอั้วเคี่ยมในภายหลังให้เอง 
        ฝ่ายท้าวขูลูนั้นเมื่อรู้ข่าวขุนลางส่งบรรณาการ และมีความประสงค์อยากได้นางอั้วไปเป็นมเหสี ก็กระวนกระวายใจจึงได้ขอร้องให้บิดามารดาส่งแม่สื่อไปสู่ขอนางอั้วให้อีกครั้ง และทวงสัญญาที่เคยให้กันไว้ของทั้งสองเมือง 
        แต่ก็ถูกปฏิเสธจากพระนางจันทาและบอกว่าเลิกสัญญานี้ตั้งแต่นางขอผลส้มไม่ได้เมื่อคราวเที่ยวอุทยานนครกาสีครั้งโน้นแล้ว
        และเมื่อเรื่องชักจะบานปลาย อาจเกิดศึกสงครามชิงนางขึ้นมาได้ ทางเมืองกายนครก็หาทางออกโดยการที่จะทำการ “เสี่ยงสายแนน” หรือ “รกห่อหุ้มทารก” 
        ซึ่งเชื่อกันว่าทุกคน จะมีสายรกพัวพันกันอยู่บนเมืองแถน (สวรรค์) ก่อนมาเกิดบนโลกมนุษย์ และต้องเป็นคู่กัน ตามสายแนนนั้น 
        ถ้าแต่งงานผิดสายแนนจะต้องหย่าร้างกัน และให้คนทรงทำพิธีเซ่นไหว้ “พระยาแถน” (พระอินทร์) และนำของไปถวายพระยาแถน เพื่อขอดูสายแนนของท้าวขูลูและนางอั้ว 
        ซึ่งก็พบว่าสายของทั้งสองพันกันอยู่ แต่ตอนปลายยอดด้วนและปลายแยกออกจากกัน ซึ่งแสดงว่าเป็นเนื้อคู่กันจริง แต่อยู่กันไม่ยืดต้องพลัดพรากในที่สุด 
        นอกจากนี้ยังพบว่าสายแนนของท้าวขูลูนั้น มีแท่นทองอยู่ด้วยแสดงว่าเป็น “พระโพธิสัตว์” ลงมาเกิด  เมื่อ “แม่สูน” หรือ “นางทรง” หรือ “นางเทียม” 
        ได้แจ้งความดังนั้นก็ได้แจ้งให้พระนางจันทาทราบ เมื่อพระนางจันทาทราบดังนั้ นก็เร่งรัดให้มีการอภิเษกสมรสระหว่างขุนลาง กับนางอั้ว ให้เร็วขึ้น 
        ฝ่ายนางอั้ว ซึ่งรักอยู่กับท้าวขูลู ไม่ว่าผลการเสี่ยงทายสายแนนจะออกมาอย่างไรก็ตาม 
        ท้าวขูลูโศกเศร้าเสียใจและทุกข์ทรมานมาก จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อทราบข่าวพิธีวิวาห์นั้น 
        ซึ่งนางอั้วก็เช่นกัน นางอั้ว จึงให้คนส่งข่าวไปหาท้าวขูลู ให้มาหานางก่อนพิธิอภิเษกสมรส 
        โดยให้รอพบกันที่อุทยานที่ทั้งคู่ได้พบกันและบอกรักกันในคราวก่อนโน้น เมื่อท้าวขูลูทราบเช่นนั้นก็รีบเดินทางมาหานางในทันที 
        ทั้งคู่ได้แอบพบกันก่อนที่จะเริ่มงานอภิเษกสมรสหนึ่งวัน ทั้งคู่ต่างคร่ำครวญร่ำไรรำพันปริ่มว่าจะขาดใจ และทั้งคู่ก็ได้เสียเป็นของกันและกัน 
        เมื่อพระนางจันทาทราบว่านางอั้วแอบมาพบกับท้าวขูลูที่อุทยาน ก็ตามมาพรากตัวนางไปและดุด่าว่ากล่าวนางอั้วต่างๆ นาๆ
        นางอั้วเสียใจและทุกข์ทรมานในรักที่ไม่สมหวังมากยิ่งนัก ซึ่งในวันรุ่งขึ้นก็จะเข้าพิธีอภิเษกกับขุนลางแล้ว 
        นางจึงตัดสินพระทัยผูกคอตายในห้องบรรทมของนาง ในคืนนั้นเอง พอรุ่งเช้าจะทำพิธีแล้วแต่นางอั้วยังไม่เสด็จออกมาก็เลยต้องให้คนไปตาม อนิจจา!
        ฝ่ายท้าวขูลู เมื่อทราบข่าวว่านางอั้วผูกคอตายแล้ว ก็โศกเศร้าเสียใจ ทุกข์ทรมานและอาลัยรักนางมาก จึงถอดพระขรรค์ออกจากฝักแล้วก็แทงพระศอ (คอ) ตัวเองตายตามนางไปที่เมืองกายนครนั้นเอง
        ฝ่ายขุนลาง เมื่อทราบข่าวร้ายนั้นก็ตกใจมาก และเมื่อลงจากหลังช้างทรงในขบวนขันหมาก ทันทีที่พระบาทแตะพื้นดินแผ่นดินก็ได้แยกออกสูบเอาขุนลางลงสู่นรกในบัดดล
 
ค. บทสรุป
        ๑.   “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์”
        ๒.   “กฎแห่งกรรม” คือในสมัยอดีตชาตินั้น เนื่องจากท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้ก่อเวรไว้จึงต้องมาใช้เวรกรรมในชาตินี้ คือไม่สมหวังในความรักนั้นเอง 
        เพราะเมื่อชาติก่อนท้าวขูลูเป็น “เจ้าเมืองเบ็งชอน” (บัญชร) นางอั้วเคี่ยมเกิดเป็นมเหสีชื่อว่า “นางดอกซ้อน” 
        ในคราวหนึ่งนั้นมีผัวเมียคู่หนึ่งไม่ยำเกรงนางดอกซ้อน นางโกรธมาก จึงฟ้องเจ้าเมืองให้ลงโทษคนคู่นี้ 
        เจ้าเมืองได้สั่งไม่ให้เป็นผัวเมียกัน หากพี่น้องคนใดชักนำให้มาอยู่กินเป็นผัวเมียกันอีกจะถูกประหาร 
        ทำให้ทั้งคู่เสียใจมาก ฝ่ายเมียได้ผูกคอตาย ส่วนผัวนั้นใช้มีดแทงคอตนเองตายตาม ซึ่งเวรกรรมนี้จึงตามสนองท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ในชาตินี้นั้นเอง

        ท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้ไปเกิดบนสวรรค์ทั้งสองคน และได้พบกันเป็นสามีภรรยากันบนสวรรค์ 
        ส่วนเมืองกาสีและกายนครบนโลกมนุษย์นั้น ก็ได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพให้กับทั้งสอง โดยเผาศพคนทั้งสองพร้อมกัน และได้สร้างพระธาตุบรรจุอัฐิทั้งสองไว้ ณ ที่เดียวกัน 
        แล้วทั้งสองเมืองก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันดังเดิม ซึ่งวิญญาณของท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้แสดงอภินิหาริย์ให้ผู้คนชาวเมืองได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
   ๓. คนโบราณบอกลูกหลานว่า “ดักแด้ขูลู” ที่ใบตอง (ใบกล้วย) ก็คือท้าวขูลู ส่วนนางอั้ว ได้เกิดเป็นต้นดอกไม้งาม และมีกลิ่นหอมคือ “ต้นดอกนางอั้ว” 
        ซึ่งชาวพื้นบ้านอีสานและชาวลาวเรียกว่า “ดอกสะเลเต” ในภาคกลางของไทยเรียก “ดอกมหาหงษ์”ส่วนทางภาคเหนือเรียก “ดอกสะบันงา” นั้นเอง 
        ดังที่ปรากฏให้เห็นกันมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อสอนลูกหลานให้ทราบตำนานอมตะนี้ อันเป็นเทพนิมิตหรือพรหมบัญญัติไปจนชั่วกาลปวสาน
    ๔. หลวงปู่ฯ สอนผมไว้ว่า 
        ท้าวขูลู ก็คือ ท้าวผาแดง 
        นางอั๊วเคี่ยม ก็คือ นางไอ่คำ 
        ขุนลาง ก็คือ พญาศรีสุทโธนาคราช" นั้นเอง 
(ศึกษาเพิ่มเติมได้ใน "ตำนานรักอมตะ ท้าวผาแดง - นางไอ่คำ")
...ขออุทิศบุญจากการพิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทานนี้แด่ดวงวิญญาณของทุกท่านในตำนานนี้  และหากขาดตกบกพร่องก็โปรดอโหสิกรรมให้ข้าพเจ้าด้วยเทอญ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น