วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

ตำนานอุรังคธาตุ ๖



ตำนานอุรังคธาตุ ๖

เข้ามาอ่อนน้อมแก่พระยาสุริยวงศาสิทธิเดช

       ครั้งนั้น ท้าวพระยาทั้งร้อยเอ็จพระนครได้ทรงสดับคำว่าพระยาสุริยวงศาสิทธิเดชดังนั้น ทรงชื่นชมยินดีในพระองค์ยิ่งนัก นี้ก็ด้วยอานิสงส์เมื่อครั้งที่พระองค์เป็นพระยาติโคตรบูร ได้เลื่อมใสและปรารถนาเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา  วันนั้นพระยาทั้งร้อยเอ็จพระนครจึงให้คำปฏิญาณว่า สาธุ สาธุ ผู้ข้าทั้งหลาย มีความปรารถนาอยากจะใคร่เห็นพระพุทธศาสนาและเมืองร้อยเอ็จประตู บัดนี้สมความปรารถนาของผู้ข้าทั้งหลายแล้ว

       แล้วท้าวพระยาร้อยเอ็จพระนครจึงเลือกสรรพระราชธิดาเมืองละคน พร้อมทั้งข้าทาสบริวารและเครื่องบรรณาการ เป็นต้นว่า ทองคำหนัก ๑๐๐,๐๐๐ ตำลึง ช้างพลาย ๑๐ เชือก ช้างพัง ๑๐ เชือก ม้า ๑๐ ตัว พร้อมทุกๆพระนคร แล้วจึงเสด็จมากับด้วยพระยาศรีอมรณีและพระยาโยธิกาถึงเมืองกุรุนทนคร พระยาโยธิกาตรัสสั่งให้หมื่นนครเสมากุรุนทะ พร้อมด้วยบริวาร ๕,๐๐๐ คน นำท้าวพระยาร้อยเอ็จพระนคร พร้อมด้วยพระราชธิดาและเครื่องราชบรรณาการเข้าไปถวายพระยาสุริยวงศาสิทธิเดชในเมืองสาเกตนคร  ส่วนพระองค์พร้อมด้วยพระยาศรีอมรณีนั้น เสด็จตามเข้าไปภายหลัง

       ครั้งนั้น ท้าวพระยาร้อยเอ็จพระนครเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธศาสนาและบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองดังนั้น ก็มีพระทัยอันผุดผ่อง

  • เชิงอรรถ –

และเลื่อมใสในพระบารมีของพระยาสุริยวงศาสิทธิเดชเป็นอันมาก แล้วพระยาร้อยเอ็จพระนคร จึงพร้อมกันกราบถวายบังคมลากลับคืนสู่พระนครแห่งตนๆ

       ครั้นอยู่ต่อมา พระยาร้อยเอ็จพระนครจึงได้พร้อมกันเสด็จมากระทำพิธีบรมราชาภิเษก และขนานนามพระยาสุริยวงศาสิทธิเดชขึ้นใหม่ ทรงพระนามว่า “พระยาสุริยวงศาธรรมิกราชาธิราชเอกราช” เสวยราชสมบัติในเมืองร้อยเอ็จประตู  เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว พระยาทั้งหลายเหล่านั้น ก็เสด็จกลับคืนไปสู่พระนครแห่งตนๆ

       ครั้งนั้น พระยาร้อยเอ็จพระนครเมื่อเสด็จกลับมาถึงพระนครแห่งตนแล้ว ก็ทรงสร้างพระพุทธศาสนาวัดวาอารามขึ้นในเมืองของตนๆทุกๆพระนคร แล้วจึงแต่งให้อำมาตย์จำทูลพระราชสาส์นเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย เพื่อขอเอาพระสงฆ์ไปอยู่ในเมืองแห่งตนๆ  เมื่อพระยาสุริยวงศาธรรมิกราชาธิราชเอกราช ได้ทรงทราบในพระราชสาส์นดังนั้น พระองค์ทรงจัดการพระราชพิธีเถราภิเษกพระภิกษุสงฆ์ พระราชทานออกไปให้ทุกๆพระนคร

       ตั้งแต่นั้นมา ท้าวพระยาร้อยเอ็จพระนคร ครั้นถึงฤดูกาลขึ้นปีใหม่จึงแต่งให้อำมาตย์คุมเครื่องราชบรรณาการดอกไม้ทองเงินเข้าไปส่งที่พระยาศรีอมรณีและพระยาโยธิกาซึ่งเป็นอุปราชและเป็นผู้รักษาประตูและเป็นหูเมืองร้อยเอ็จประตูที่เมืองกุรุนทนคร  พระยา

  • เชิงอรรถ –

ทั้ง ๒ จึงแต่งทนายให้นำเข้าไปถวายพระยาสุริยวงศาธรรมิกราชาธิราชเอกราชเจ้าทุกๆปี  ต่อมาชาวเมืองทั้งหลาย จึงเอาคำอันนั้นมาเรียกว่าเมืองศรีอโยธยาตามชื่อพระยาโยธิกา ต่อมาซ้ำเติมคำขึ้นอีกว่า “ทวาราวัตตินคร” ตามชื่อผีเสื้อเมืองที่รักษาประตู ร้องเป็นเสียง “ลาวะ” นั้น และชื่อที่ว่า “ศรีอมรณีและโยธิกา” นั้น เป็นชื่อพระยาทั้ง ๒ ที่กินเมืองตามชื่อต้นไม้อันเป็นยาที่ฤษีประกอบให้ที่เรียกชื่อว่า “อโยธยา” นั้น ฤษีให้ชื่อก่อน  พระยาร้อยเอ็จพระนครจึงได้เรียกสืบต่อมา  ที่เรียกชื่อ “กุรุนทนคร” นั้น เป็นชื่อมาแต่ปฐมกัลป์

       เมืองนี้ เมื่อศาสนาพระกกุสนธ์ เรียกชื่อว่า “กุรุฏฐนคร”  ครั้นถึงศาสนาพระโกนาคมเรียกชื่อว่า “เมืองพาหลนคร” ศาสนาพระกัสสปเรียกชื่อว่า “ทวาราวดี” ด้วยเหตุผีเสื้อเมืองที่รักษาประตูพระนครร้องเป็นเสียง “ลาวะ”  ครั้งนั้นราชกุมาร ๑๐ องค์พารี้พลโยธามารุมรบเอาก็ไม่ได้ ด้วยเหตุว่าผีเสื้อเมืองนั้น ทำให้แผ่นดินพระนครนั้นยุบลงไปอยู่กลางมหาสมุทร  เมื่อราชกุมารพารี้พลโยธากลับไป พระนครนั้นก็ผุดขึ้นมาตั้งอยู่ตามเดิม  ราชกุมารพยายามอยู่ดังนี้เป็นหลายครั้งหลายหนก็ไม่สำเร็จ จึงนำความไปไหว้ฤษีผู้เป็นอาจารย์ๆจึงบอกว่า ให้พบกับผีเสื้อเมือง แล้วจึงเอาลิ่มเหล็กไปตอกที่เสาธรณีประตูพระนครไว้ และให้เอาเชือกเหล็กเล็กๆไปผูกกับผาลแล้วจึงไปรบเอาเถิด หากจักได้สมความประสงค์

  • เชิงอรรถ –

ราชกุมารทั้ง ๑๐ องค์ ก็ไปกระทำตามคำฤษีผู้เป็นอาจารย์บอกทุกประการ เมืองนั้นก็ไม่ยุบลงเหมือนแต่ก่อน ราชกุมาจึงได้เมืองนั้น  ฤษีผู้เป็นอาจารย์จึงได้แบ่งปันพระนครนั้นให้ราชกุมารองค์ละส่วน  ตั้งแต่นั้นมาราชกุมารทั้ง ๑๐ องค์ จึงไปเที่ยวรบเอาบ้านเมืองให้มาขึ้นได้เป็นอันมาก

       ครั้งนั้น ยังมีพระยาเมืองหนึ่งมีความโกรธในราชกุมารเป็นอันมาก จึงได้แช่งและปรารถนาว่า  เมื่อเราตายไปแล้วขอให้ได้บังเกิดเป็นยักษ์มากินราชกุมารทั้ง ๑๐ องค์ และเป็นผีเสื้อเมืองอยู่ในพระนครนั้นด้วย  พระนครอันนี้ เมื่อพระตถาคตยังธรมานอยู่นั้นมีชื่อว่า “กุรุนทนคร”

       ต่อแต่นี้ไป จะได้ย้อนกลับไปกล่าวแต่ครั้งปฐมกัลป์ซึ่งเจือปนมากับด้วยนิทานอุรังคธาตุเพื่อให้แจ้ง  ยังมีนาค ๒ ตัวเป็นมิตรสหายกันอยู่ในหนองแส  ตัวหนึ่งชื่อพินทโยนกวติเป็นใหญ่อยู่หัวหนอง อีกตัวหนึ่งชื่อธนะมูลนาคเป็นใหญ่อยู่ท้ายหนองกับด้วยชีวายนาคผู้หลาน  นาคทั้งสองได้ให้ความสัตย์ไว้ซึ่งกันและกันว่า ถ้าหากว่ามีสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง มาตกที่หัวหนองก็ดี ตกที่ท้ายหนองก็ดี เราทั้งสองรักกันด้วยอาหารการเลี้ยงชีวิต  เราทั้งสองจงเอาเนื้อสัตว์นั้นๆมาแบ่งปันแก่กันเพื่อเลี้ยงชีวิต และตั้งชีวายนาคผู้เป็นหลานของเรานี้ให้เป็นสักขีแก่เราทั้งสอง  เมื่อนาคทั้งสองได้ให้สัตย์ปฏิญาณแก่กันดังนั้นแล้ว ต่างก็กลับสู่ที่อยู่ของตน

  • เชิงอรรถ –

       ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ยังมีช้างสารตัวหนึ่งตกลงที่ท้ายหนอง  ธนะมูลนาคจึงเอาเนื้อสัตว์นั้นมาแบ่งปันออกเป็น ๒ พูด๑  เอาไปให้พิทโยนกวตินาคพูดหนึ่ง อีกพูดหนึ่งนั้นเอาไว้บริโภค  อยู่ต่อมาอีกสองสามวัน มีเหม้นตัวหนึ่งมาตกลงที่หัวหนอง  พินทโยนกวตินาคก็เอาเนื้อสัตว์นั้นมาแบ่งออกเป็น ๒ พูด  เอาไปให้ธนะมูลนาคพูดหนึ่ง ธนะมูลนาคบริโภคไม่พออิ่ม แต่ผะเอิญมองไปเห็นขนเหม้นยาวแค่ศอกก็บังเกิดมีความโกรธขึ้น จึงนำเอาขนเหม้นนั้นไปให้ชีวายนาคผู้เป็นหลานดู จึงกล่าวขึ้นว่า  คำสัตย์ปฏิญาณของเรากับพินทโยนกวตินาคนั้นจะขาดจากกันเสียแล้ว  เมื่อเราได้ช้างสารมาเป็นอาหารครั้งนั้น เราก็ได้เอาเนื้อนั้นแบ่งออกเป็น ๒ พูด  เอาไปให้พินทโยนกวตินาคพูดหนึ่ง เราเอาไว้บริโภคพูดหนึ่ง บริโภคพออิ่ม ถึงแม้ขนก็พอปานนั้น นี้เราเห็นว่าเหม้นนี้จะใหญ่โตยิ่งกว่าช้างสารนัก ขนก็โตยาวแค่ศอก เหตุใดพินทโยนกวตินาคจึงให้เนื้อแก่เราน้อยเช่นนี้  เราบริโภคก็ไม่อิ่ม

       ตั้งแต่นั้นมา นาคทั้งสองก็เกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้นในหนอง เป็นเหตุให้น้ำขุ่นมัวไปสิ้นทั้งหนอง  สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในหนองนั้นตายกันสิ้น  เทวดาที่เป็นใหญ่อยู่ในที่นั้นว่ากล่าวห้ามปรามนาคทั้งสองก็มิได้เชื่อฟัง จึงนำความขึ้นไปไหว้พระอินทร์ๆได้ทราบในเหตุนั้นๆจึงใช้ให้วิสสุกรรมเทวบุตรลงมาขับไล่นาคทั้งสองให้หนีไป

  • เชิงอรรถ ๑ “พูด” ส่วน

เสียจากหนองนั้น  เมื่อนาคทั้งสองได้ยินคำบอกเล่าดังนั้น ก็วัดเหวี่ยงกัดกันออกหนีจากหนองนั้นไปด้วยอก ดินก็ลึกเป็นคลอง  ชีวายนาคเห็นดังนั้น จึงได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปตามคลองอกแห่งนาคทั้งสองนั้น แม่น้ำนั้นจึงเรียกชื่อว่า “อุรังคนที” ฝ่ายโลกเรียกว่า “แม่น้ำอู”

       ส่วนพินทโยนกวตินาค จึงได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปทางเมืองเชียงใหม่ เรียกชื่อว่า “แม่น้ำพิง” และ “เมืองโยนกวตินคร” ตามชื่อนาคตัวนั้น

       ส่วน ผียักษ์ ผีเปรต เห็นสัตว์ทั้งหลายในน้ำหนองแสตายมากนักเป็นต้นว่า จี่แข้๑ เหี้ย เต่า จึงพากันมาชุมนุมกินอยู่ในที่นั้น

       ครั้งนั้น นาคทั้งหลายมี สุวรรณนาค พุทโธธปาปนาค ปัพพารนาค สุกขรนาค และ หัตถีศรีสัตตนาค เป็นต้น อยู่ในน้ำหนองนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุว่าน้ำนั้นขุ่น จึงขึ้นมาอาศัยอยู่ตามริมน้ำที่นั้น  ผีทั้งหลายเห็นว่านาคเหล่านั้นหวงแหนและจักมาชิงกินกับเขาด้วย  ผีเหล่านั้นจึงกระทำให้เป็นอันตรายแก่นาคเหล่านั้นด้วยประการต่างๆ  ลางตัวก็ตายไป  ถึงแม้เงือกงูก็ฉันเดียวกัน

       สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จึงพากันหนีออกไปตามแม่น้ำอุรังคนที ไปเที่ยวแสวงหาที่อยู่ลี่๒  ผีสางทั้งหลาย  นาคและเงือกงูทั้งหลายเหล่านั้น จึงล่องหนีไปตามลำแม่น้ำของทางใต้  ศรีสัตตนาคนั้น อยู่เสมอ

  • เชิงอรรถ ๑ “จี่แข้” จรเข้  ๒ “ลี่” ซ่อนเร้น(ตรงกับ ลี้)

ดอยนันทกังรี  สุวรรณนาคนั้นอยู่ปู่เวียน  พุทโธธปาปนาคนั้นนั้นก็คุ้ยควักแต่ที่นั้นไปเกลื่อนพังทะลายเป็นหนองบัวบานแล้วก็อยู่ ณ ที่นั้น  นอกจากนั้น ตัวใดปรารถนาอยู่ที่ใด ก็ไปอยู่ ณ ที่นั้น  ส่วนเงือกงูทั้งหลายก็อยู่เป็นบริวารแห่งนาคนั้นทุกแห่ง

 กำเนิดของแม่น้ำสายต่างๆ

        ส่วนปัพพารนาคนั้น จึงคุ้ยควักออกไปที่ภูเขาหลวง  พญาเงือกตัง ๑  พญางูตัว ๑  ทั้งสองนี้ไม่มีความปรารถนาจะอยู่ปะปนด้วย จึงคุ้ยควักออกไปเป็นแม่น้ำอันหนึ่งมีนามว่า “แม่น้ำงึม” หรือ “แม่น้ำเงือกงู” ก็เรียก

       ส่วนสุกขรนาคหัตถีนั้นอยู่เวินหลอด  พวกนาคที่กลัวผียิ่งกว่านาคทั้งหลายเหล่านั้น พากันไปสู่ที่อยู่ธนะมูลนาคใต้ดอยกัปปนคิรีคือภูกำพร้าซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุพนมทุกวันนี้ หนีไปจนถึงน้ำสมุทรแต่นั้นไปเรียกว่าน้ำลี่ผี  น้ำที่อยู่แห่งธนะมูลนาคนั้นไหลว่างเสีย ธนะมูลนาคจึงคุ้ยควักเป็นแม่น้ำออกไปถึงเมืองกุรุนทนคร แม่น้ำนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า “แม่น้ำมูลนที” ตามชื่อนาคตัวนั้น

       ชีวายนาคตัวนั้น จึงคุ้ยควักจากแม่น้ำมูลนทีออก เป็นแม่น้ำอ้อมเมืองพระยามหาอสุรทกที่กินเมืองหนองหานหลวง พร้อมทั้งเมืองขุนขอมนครหนองหานน้อย ตลอดขึ้นไปถึงกุรุนทนคร  แต่นั้นมาแม่น้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า “แม่น้ำชีวายนที”

  • เชิงอรรถ –

ตำนานหนองหาน

       หนองหานทั้ง ๒ นี้ แต่ก่อนไป่เป็นหนอง  มาบังเกิดเป็นหนองขึ้นเมื่อครั้งพระยามหาสุรอุทกมีฤทธิ์และอำนาจ  วันหนึ่งพระองค์ทรงดาบเดินไปบนแม่น้ำมูลนที  ธนมูลนาคเห็นดังนั้นก็มีความโกรธหาว่าเดินบนหัว จึอได้ให้บริวารมาพังทำลายเมืองเสียสิ้น  ราษฎรชาวเมืองจึงพร้อมกันอพยพไปตั้งบ้านสร้างเมืองอยู่ตามริมหนอง แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่าเมืองหนองหานหลวง ตามชื่อนาคตัวนั้น(จึอ/น่าจะเป็น จึง /ผู้พิมพ์)

       ส่วนเมืองหนองหานน้อย เดิมเรียกชื่อว่าเมืองขุนขอม แต่ก่อนก็ไม่เป็นหนองเหมือนกัน  มาบังเกิดเป็นหนองขึ้นเมื่อครั้งอนุชาของพระยามหาสุรอุทกเป็นเจ้าเมือง  ครั้งนั้นพุทโธธปาปนาคยังอยู่หนองบัวบาน มีลูกตัวหนึ่งชื่อภังคียนาคๆตัวนี้ สุวรรณนาคเอามาเลี้ยงไว้  วันหนึ่งภังคียนาคไปเที่ยวเล่นถึงเมืองขอมนคร  ภังคียนาคจึงเนรมิตเป็นกระรอกด่อน๑ แล้วขึ้นไปบนต้นงิ้วต้นหนึ่งใกล้กับพระราชฐาน มองดูเข้าไปในพระราชฐาน  ครั้งนั้นมีนายพรานของขุนขอมคนหนึ่ง เห็นกระรอกตัวนั้นมีความยินดียิ่งนัก  จึงยิงกระรอกนั้นด้วยหน้าไม้ถึงแก่ความตาย แล้วจึงมาทูลขุนขอมให้ทราบ  เมื่อขุนขอมทราบจึงสั่งให้ไปบอกชาวเมืองไปแล่เอาเนื้อมาบริโภค

       ครั้นพุทโธธปาปนาคทราบความว่าชาวเมืองขุนขอมฆ่าลูกของตนกิน ก็บังเกิดความเคียดแค้นแก่ขุนขอมและชาวเมืองยิ่งนัก จึง

  • เชิงอรรถ ๑ “ด่อน” เผือก

พร้อมด้วยหมู่นาคและเงือกงูบริวารไปเกลื่อนพังทะลายเมือง  ราษฎรชาวเมืองที่ได้กินเนื้อกระรอกด่อนตัวนั้น เงือกงูเหล่านั้นก็กินเสียสิ้น  ส่วนราษฎรคนใดที่ไม่ได้กิน ก็ปล่อยให้พ้นจากความตายไป แล้วไปตั้งเป็นบ้านเมืองอยู่ตามริมหนองนั้น  เงือกงูจึงช่วยเอาข้าวของราษฎรที่ตายนั้น มาให้ราษฎรซึ่งพ้นจากความตายที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมหนองนั้น ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า “หนองหานน้อย” แต่นั้นมา

       นิทานเรื่องหนองหานนี้มีมาแต่ปฐมกัลป์ เมื่อใกล้พระกกุสนธ์จักเสด็จอุบัติมาบังเกิด มีดังนี้

กำเนิดมหารัตนกุมารและจุลรัตนกุมาร

       แต่นี้ต่อไปจะได้กล่าวถึงพระยาทั้ง ๕ มีพระยาสุวรรณภิงคารเป็นต้น ที่ได้ก่ออุโมงค์ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ ที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ก่อนนั้น

       เมื่อพระยาทั้ง ๕ เสด็จจากกันกลับคืนไปสู่บ้านเมืองแห่งตนๆ ในปีนั้น พระราชเทวีของพระยาอินทปัฐนคร ทรงนิมิตรเห็นแก้วมณีโชติ ๒ ลูก ตกลงมาทับพระอุระของพระนาง แล้วแก้ว ๒ ลูกนั้นกลับกลายเป็นช้างเผือกเหาะขึ้นไปบนอากาศ  ครั้งนั้นพระยาสุวรรณภิงคารก็จุติไปถือเอาปฏิสนธิในท้องแห่งนางเทวี  เมื่อนางทรงครรภ์ถ้วนทศมาสก็ประสูติพระราชกุมาร  เมื่อพระราชกุมารนั้นมีอายุได้ ๖ เดือน พระบิดาจึงขนานพระนามพระราชกุมารนั้นว่า “มหารัตนกุมาร” ตาม

  • เชิงอรรถ –

นิมิตร  ครั้งนั้นพระยาคำแดงเจ้าเมืองหนองหานน้อย ก็จุติมาถือเอาปฏิสนธิร่วมพระมารดากับด้วยมหารัตนกุมาร พระบิดาจึงขนานพระนามว่า “จุลรัตนกุมาร” โดยลำดับ

       ครั้งนั้น เทวดาที่รักษาเมืองหนองหานหลวงและเมืองหนองหานน้อย จึงให้ธนมูลนาคและชีวายนาคโก่งหลังคุ้ยควักเป็นแม่น้ำอันหนึ่งแล้วจึงให้บังเกิดเป็นลมพัดแม่น้ำนั้น เป็นฟอง๑นองเข้ามาที่หนองหานน้อย  เทวดาหนองหานน้อยจึงเนรมิตให้น้ำท่วมพระธาตุเชิงชุมและบ้านเมืองของพระยาทั้ง ๒

พ่อท้าวคำบางสร้างเมือง

       ครั้งนั้น พ่อท้าวคำบาง ซึ่งเป็นน้าของพระยาสุวรรณภิงคาร จึงได้พาไพร่พลโยธาทั้งหลายอพยพหนีน้ำ ขึ้นมาตั้งเป็นบ้านเมืองอยู่ตามริมแม่น้ำของ ที่ห้วยเก้าคดเก้าเลี้ยว  บุคคลเหล่านั้นเป็นเชื้อสายขุนนาง รู้จักจารีตประเพณีสร้างแปงบ้านเมือง สืบต่อพระยาทั้ง ๒ ให้ถูกต้องตามประเพณี แล้วเขาเหล่านั้นจึงพร้อมกันยกพ่อท้าวคำบางขึ้นเป็นใหญ่  พวกที่เป็นไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรนั้น ให้ตั้งทำไร่ไถนาหากินอยู่ตามริมหนองคันแทเสื้อน้ำ

       ส่วนพวกที่อพยพหนีไปทางทิศใต้แม่น้ำชีวายนทีนั้น เป็นพาหิรคาม เป็นบ่าวของธนมูลนาค แล้วธนมูลนาคจึงคุ้ยควักแต่แม่น้ำของ

  • เชิงอรรถ ๑ “ฟอง” ละลอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น