วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พิมาย-พนมรุ้ง


“พิมาย-พนมรุ้ง” ในตำนาน-นิทานท้องถิ่น เรื่องเล่าต่อเนื่องยืนยัน “คนไทยอยู่ที่นี่”

ในวัยเด็ก เคยได้ยินมาอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่ปะติดปะต่อ เกี่ยวกับ “ตำนาน-นิทานท้องถิ่น” เรื่อง “ท้าวปาจิตต์และนางอรพิมพ์”
บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิท ในเขต จ.บุรีรัมย์ ไม่ว่าจะเป็น “เขากระโดง” หรือ “เขาพนมรุ้ง” มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกชื่อในภาษาเขมรแถบนั้นว่า “ต้นกะนูย ขะม้อยต” แปลเป็นไทยได้ว่า “ต้นหีผี”
ภายหลัง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อใหม่ว่า “ต้นโยนีปีศาจ”
เป็นไม้ยืนต้น ที่ภายหลังมีการผูกเข้ากับตำนาน-นิทานเรื่องดังกล่าว
“โยนีปีศาจ”ในตำนาน-นิทานพื้นบ้าน
ใครเคยปีนเขากระโดง เขาพนมรุ้งขึ้นไปไหว้พระ ชมปราสาทหิน ถ้าสังเกตสักหน่อยจะพบไม้ยืนต้นชนิดนี้
เก็บผลมาพลิกดู น่าจะเข้าใจได้ว่าทำไมชาวบ้านถึงเรียก “หีผี” หรือ “กะนูย ขะม้อยต”
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schrebera swietenioides Roxb ส่วนชื่อสามัญนั้นเรียก มะกอกโคก, มะกอกดอน เป็นไม้เปลือกแข็ง ต้นสูงใหญ่ ออกดอกเป็นช่อช่วงหน้าร้อน มีผลคล้ายลูกมะกอก ขนาดก็พอๆ กัน เมื่อผลสุกจะแตกออกเป็น 2 ซีก คล้ายอวัยวะเพศหญิง
จึงเป็นที่มาของชื่อตามคำปากชาวบ้านนั่นเอง
ไม้ยืนต้นชนิดนี้ พบในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตภูเขาไฟที่ดับแล้ว อย่างเช่น จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็น “ถิ่นภูเขา” (พบมากที่สุดในประเทศไทย)
ความต่อเนื่องของการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของผู้คนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเมืองพนมรุ้งใน จ.บุรีรัมย์ หรือเมืองพิมาย ใน จ.นครราชสีมา ทำให้เรื่องราวของต้นโยนีปีศาจถูกผนวกรวมเข้ากับ “ตำนาน-นิทานท้องถิ่น”
กลายเป็นชื่อบ้านนามเมือง แม่น้ำ ลำคลองต่างๆ ซึ่งแม้จะไม่ตรงกับหลักฐานทางโบราณดดีที่ค้นพบ แต่ทั้งหมดก็เป็นสิ่งยืนยันว่า “คนไทยอยู่ที่นี่” มีความสืบเนื่อง ไม่เคยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตแต่อย่างใด
“เรื่องท้าวปาจิตต์และนางอรพิมพ์” เล่าสืบต่อกันไว้หลายสำนวน
โดยย่อๆ สำนวนที่ต้นโยนีปีศาจเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เล่าไว้ว่า โอรสกษัตริย์เมืองพระนครกัมพูชา เดินทางออกหาคู่ครองตามคำทำนาย ได้มาพบกับหญิงท้องแก่คนหนึ่ง มีลักษณะตรงตามคำโหราจารย์ที่ว่า คู่ครองของตนจะคลอดออกมาจากหญิงคนนี้ ซึ่งต่อมาเมื่อคลอดแล้วก็ให้ชื่อว่า “นางอรพิมพ์”
ท้าวปาจิตต์ดูแลนางอรพิมพ์ สร้างปราสาทให้อยู่บนภูเขา คือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” จนเมื่อถึงออกเหย้าเรือน ก็กลับเมืองพระนครกัมพูชาไปตั้งขบวนขันหมากมาสู่ขอ
แต่ระหว่างนั้นนางอรพิมพ์ถูกท้าวพรหมทัตที่ครองเมืองพิมายชิงตัวไป ท้าวปาจิตต์เข้าช่วยเหลือ ฆ่าท้าวพรหมทัตตาย แต่ทว่า ระหว่างทางทั้งสองต้องพลัดพรากกันอีก เพราะเหตุแห่งความสวยของนางอรพิมพ์
เมื่อนางอรพิมพ์รู้ว่าความเป็นหญิงงามนำภัยมาให้ จึงอธิษฐานพระอินทร์ขอเป็นผู้ชาย นางโยนอวัยวะเพศหญิงของตนทิ้ง กลายเป็นต้น “โยนีปีศาจ” โยนนมทิ้ง กลายเป็นต้น “นมนาง” แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองหนึ่ง ได้ช่วยเหลือธิดาเจ้าเมืองไว้ จนผู้ครองเมืองจะยกธิดาให้เป็นคู่ครอง (นางอรพิมพ์อยู่ในร่างผู้ชาย) แต่นางปฏิเสธ ขอออกบวช
ขณะบวช ได้สร้างศาลาการเปรียญไว้ เขียนจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวของตนเองและท้าวปาจิตต์ วันหนึ่ง ท้าวปาจิตต์เดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้ เห็นจิตรกรรมฝาผนังแล้วจำได้ นางจึงกลับเป็นผู้หญิงดังเดิม แล้วทั้งสองจึงเดินทางกลับไปครองเมืองพระนคร และครองรักกันอย่างมีความสุข
ชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในตำนาน-นิทานท้องถิ่นเรื่องนี้ยังมีอยู่อีก
อาทิ เมืองนางรอง (จ.บุรีรัมย์) เป็นเมืองที่ “นางร้องไห้” หลังถูกท้าวพรหมทัตจับตัว, ลำปลายมาศ (ลำน้ำสาขาแม่น้ำมูล) จุดที่ท้าวปาจิตต์ทิ้งขันหมากก่อนปลอมตัวเข้าไปช่วยนางอรพิมพ์
“ชัยวรมันที่ 7” เป็น “ท้าวพรหมทัต”ความต่อเนื่องของเมืองโบราณ
ตํานาน-นิทาน “ท้าวปาจิตต์และนางอรพิมพ์” แพร่หลายอย่างมากในท้องถิ่นเมืองพิมาย จ.นครราชสีมา
เกี่ยวกับเมืองพิมายและปราสาทหินพิมาย จากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่าบริเวณ “เมืองพิมาย” มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นบ้านเรือน ชุมชนราว 3,000 ปีมาแล้ว
เรียกกลุ่มวัฒนธรรมทุ่งสัมฤทธิ์เทียบอายุได้ว่าอยู่ในยุคเดียวกับกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี โดย แหล่งโบราณคดีบ้านธานปราสาท อ.โนนสูง คือหลักฐานยืนยันการตั้งถิ่นฐานของผู้คน
รวมถึงบริเวณท่านางสระผม ห่างไปทางตะวันออกของปราสาทพิมายราว 1 กิโลเมตร อาจารย์มานิต วัลลิโภดม เชื่อว่าเคยเป็นชุมชนมาตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์ เนื่องจากพบเครื่องปั้นดินเผาอยู่กระจายอย่างหนาแน่น
สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 เมืองพิมายได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนามหายาน รวมทั้งมีการติดต่อเมืองในที่ราบลุ่มภาคกลาง รับเอาพุทธศาสนาของวัฒนธรรมทวารวดีเข้ามาผนวกด้วย
ขณะที่อีกด้านหนึ่งติดต่อสัมพันธ์กับทางอาณาจักรขอม ทำให้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไป เมืองพิมายจะกลายเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนามหายานที่เข้มแข็งมาก จนมีการสร้างปราสาทหินพิมาย ขึ้นเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและพิธีกรรม
ครั้นถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างปราสาทนครธม (หรือ บายน) นักวิชาการศึกษาพบว่า พระองค์มีบรรพชนอยู่บริเวณถิ่นฐานแถบเมืองพิมาย ต้นลุ่มแม่น้ำมูล จึงเป็นเหตุให้มีการบูรณะปราสาทหินพิมาย รวมทั้งสร้างปรางค์องค์ใหญ่ทางด้านซ้ายของปราสาท
นั่นก็คือ “ปรางค์พรหมทัต”
 

ในการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2497 ภายในปรางค์องค์ดังกล่าว พบประติมากรรมสลักจากหินทราย 3 รูป ชาวบ้านเรียกกันต่อมาว่า รูปท้าวพรหมทัต รูปท้าวปาจิตต์ และรูปนางอรพิมพ์
โดยเฉพาะรูปของท้าวพรหมทัตนั้น มีบรรยายลักษณะว่า นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ประนมอยู่เหนือพระอุระ (ปัจจุบันหักหายไป) นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นประติมากรรมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แบบเดียวกับที่พบในกัมพูชา
ตำนาน -นิทานพื้นบ้านเรื่อง “ท้าวปาจิตต์และนางอรพิมพ์” ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มผูกเรื่องหลังการล่มสลายของอาณาจักรขอมโบราณ เล่าสืบต่อกันมาในแถบถิ่นนี้ ได้ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กลายเป็น “ท้าวพรหมทัต” ในที่สุด
ตํานาน-นิทานท้องถิ่นเรื่อง “ท้าวปาจิตต์และนางอรพิมพ์” ในสมัยพระเจ้าตากสิน (กรุงธนบุรี) มีผู้นำมาผูกแต่งเป็น “นิทานกลอนอ่าน” บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เป็นนิทานกลอนอ่านที่ส่งพลังให้สุนทรภู่สร้างสรรค์กลอนสุภาพหรือกลอนแปด ที่ใช้แต่งเรื่องพระอภัยมณี
นั่นเพราะครั้งหนึ่ง “กรมพระราชวังหลัง” ซึ่งเป็นเจ้านายของสุนทรภู่นั้น เคยเป็นเจ้าเมืองอยู่นครราชสีมา น่าจะรับรู้ และได้ต้นฉบับกลอนอ่านนี้มาไว้ที่วังหลัง ทำให้สุนทรภู่ซึ่งเป็นผู้ดี อยู่บางกอกน้อย เข้านอก-ออกในได้สะดวก มีโอกาสได้อ่าน
ซึ่งนี่ก็คือความต่อเนื่องที่ยืนยันว่า “คนไทยอยู่ที่นี่” ไม่เคยอพยพมาจาก “เทือกเขาอัลไต” ด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น