วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

"หลักฐานการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า" ที่ "พระนครศรีอยุธยา"

ในภาพอาจจะมี สถานที่ในร่ม

ข้อสมมติฐาน "หลักฐานการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า" ที่ "พระนครศรีอยุธยา" ที่ใครๆ อาจไม่รู้จัก
  • วันนี้ ผมมีความยินดี จะนำเสนอ หลักฐานการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าที่ "พระนครศรีอยุธยา" ที่ใครๆ อาจไม่รู้จัก จาก “ตำนานพระสิขีพุทธปฏิมา” ดังปรากฏใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” ซึ่งท่านรัตนปัญญาเถระ ชาวเมืองเชียงใหม่ ได้แต่งไว้เป็นภาษาบาลี เมื่อระหว่าง พ.ศ. ๒๐๖๐-๒๐๗๑ หรือเมื่อเกือบ ๕๐๐ ปีที่แล้ว ตอนหนึ่งว่า
  • .....ในปีกุนนั้น กษัตริย์อโยชฌปุระ ( หมายถึง พระนครศรีอยุธยา ตรงในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ครองกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒ ) ยกพลนิกายมานครเขลางค์ จริงอยู่ กษัตริย์อโยชฌปุระนั้น เสด็จมานครเขลางค์ เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย แล้วยึดเอาพระพุทธปฏิมา ชื่อ "สิขี" ไปจากวัดกู่ขาว ขอเล่าเรื่องการอุบัติของพระพุทธปฏิมา ชื่อ "สิขี" ซึ่งสถิตอยู่ในวัดกู่ขาวต่อไป
  • .....ได้ยินว่า ยังมี "หินดำ" ก้อนหนึ่ง ทางด้านฝั่งตะวันตกแม่น้ำ ไม่ไกลจาก "อโยชฌปุระ" ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคของเรา เมื่อดำรงพระชนม์อยู่ แวดล้อมด้วยพระขีณาสพทั้งหลาย เสด็จมาทางอากาศแล้วลงมายังที่นั้น ประทับนั่งบน "ก้อนหินดำ" นั้น ตรัส "ทารุกขันธูปมสูตร" แก่พระภิกษุทั้งหลาย 
  • ตั้งแต่นั้นมา หินดำก้อนนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายกราบไหว้บูชาเป็นนิตย์ตลอดมา เพราะฉะนั้น หินดำก้อนนั้นจึงมีชื่อปรากฏว่า อาทรสิลา และหินดำก้อนนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวรัมมนะประเทศ ( หมายถึงเมืองรามัญ ) ทั้งหลายเรียกด้วยภาษาของตนว่า สิลาธิมิ แปลว่าพระหิน เพราะเล็งเอาเหตุที่ศิลานั้นมีผู้นับถือบูชา 
  • ต่อจากนั้นมา มีพระราชาธิราชองค์หนึ่ง ในรัมมนะประเทศ เป็นใหญ่แก่เจ้าประเทศราชทั้งหลาย ทรงดำริอย่างนี้ว่าหินก้อนนี้ แม้เพียงมีฐานะเป็นเครื่องใช้สอย แต่ก็ยังเป็นไปเพื่อบุญใหญ่หลวงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ 
  • อย่ากระนั้นเลย เราจะทำหินก้อนนั้นให้เป็นพระพุทธปฏิมา และพระพุทธปฏิมาองค์นี้ จะได้เป็นไปเพื่อบุญใหญ่หลวงยิ่งๆ ขึ้นไปแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจนกว่าศาสนาจะอันตรธาน 
  • ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้ประชุมช่างปฏิมากรรมทั้งหลาย แล้วโปรดให้ช่างทำหินก้อนนั้นให้เป็นพระพุทธรูปจำนวน ๕ องค์ ครั้นทำเสร็จแล้ว 
    • องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในมหานคร องค์หนึ่งอยู่ในลวปุระ ( หมายถึง ลพบุรี ) 
    • องค์หนึ่งอยู่ในเมืองสุธรรม ( อาจจะหมายถึงเมืองสะเทิม ) 
    • อีก ๒ องค์ประดิษฐานอยู่ในรัมมนะประเทศ ทรงสักการบูชาพระพุทธรูป ๒ องค์เสมอมาจนสวรรคต
  • ......ในตำนานยังจะได้กล่าวถึงการอัญเชิญ “พระสิขีพุทธปฏิมา” ไปสักการะตามเมืองต่างๆ ซึ่งองค์ที่อัญเชิญมาที่เขลางค์นครนั้น ถูกอัญเชิญไปจากลวปุระ ในสมัย พระนางจามเทวี ราว พ.ศ. ๑๒๐๐
  • ......ซึ่งในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ได้บันทึกไว้ ใน ๒ พระสูตร คือ "ทารุกขันธูปมสูตร" กับ "เผณปิณฑูปมสูตร"
  • ......โดยใน "ทารุกขันธูปมสูตร" ซึ่งตรงกับ "ตำนานพระสิขีพุทธปฏิมา" ที่ว่า พระพุทธองค์บนก้อนหินดำ ตรัส "ทารุกขันธูปมสูตร" แก่พระภิกษุทั้งหลาย มีว่า..
  • .......สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่ง "แม่น้ำคงคา" แห่งหนึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง อันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ท่อนไม้ใหญ่โน้นอันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ
  • พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า กระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เป็นผู้เสียในภายในไซร้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า สัมมาทิฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ.....

......ส่วนใน "เผณปิณฑูปมสูตร" ได้บันทึกไว้ว่า...
  • ......สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้อยุชฌบุรี ณ ที่นั้นแล
  • พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้น โดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลุ่มฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่าหาสาระมิได้เลย สาระในกลุ่มฟองน้ำ พึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็นเพ่ง พิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย รูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในรูปพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน.
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดหยาบตกอยู่ในสรทสมัย ฟองน้ำในน้ำ ย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลยสาระในฟองน้ำนั้นพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคายเวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในเวทนาพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน.
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดด ย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณา พยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า ฯลฯ สาระในพยับแดดพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล.
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น เสาะหาไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ยังไม่เกิดแก่นในป่านั้น พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้นแล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก บุรุษนั้นปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยใหญ่นั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้ แก่นในต้นกล้วยพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็นเพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย สังขารนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในสังขารทั้งหลายพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล.
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกลหรือลูกมือนักเล่นกล พึงแสดงกลที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง บุรุษผู้จักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในกลพึงมีได้อย่างไรแม้ฉันใด. วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย เมื่อภิิกษุเห็น เพ่งพิจารณาวิญญาณนั้นโดยแยบคาย วิญญาณนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้สาระในวิญญาณพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้.
  • พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
    • พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า
    • รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ สัญญาอุปมาด้วย
    • พยับแดด สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยกล.
    • ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการ
    • ใดๆ เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า
    • ด้วยประการนั้นๆ ก็การละธรรม ๓ อย่าง อันพระพุทธเจ้า ผู้มี
    • ปัญญาดังแผ่นดิน ปรารภกายนี้ทรงแสดงแล้ว ท่านทั้งหลาย
    • จงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว. อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละ
    • กายนี้เมื่อใด เมื่อนั้น กายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้วย่อมเป็นเหยื่อ
    • แห่งสัตว์อื่น หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน. นี้เป็น
    • ความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เบญจขันธ์
    • เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีใน
    • เบญจขันธ์นี้. ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ
    • พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน. ภิกษุเมื่อ
    • ปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำ
    • ที่พึ่งแก่ตน พึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้.
  • ซึ่งจาก "ตำนาน" และ ความใน "พระไตรปิฎก" ข้างต้นได้ทำให้เรา "ผูกปมขมวดเชือก" ได้ทราบถึงการเสด็จมาของพระพุทธองค์ ณ พื้นที่แถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นี้นั่นเอง ไม่ใช่ "อโยธยาที่อินเดีย"
ธนบดี วรุณศรี 
https://www.facebook.com/groups/1490033434592210/permalink/1950536245208591/
ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังยืน และ สถานที่กลางแจ้ง

ไม่มีข้อความกำกับภาพอัตโนมัติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น