วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561

องค์หญิงมณฑาทิพย์ ''(จันทร์เจ้า)

ในภาพอาจจะมี 1 คน

' องค์หญิงมณฑาทิพย์ ''(จันทร์เจ้า) จอมขมังเวทย์ผู้ปราบพม่า นางไม้เจ้าจอม วัดบางกุ้ง ผู้รักชาติยิ่งชีพ

เมื่อปี พ.ศ. 2531 บริเวณวัดเป็นป่ารกร้าง พระวินัยธร องอาจอาริโยได้เดินธุดงค์มาที่บริเวณวัดบางกุ้ง ปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ข้างอุโบสถหลวงพ่อนิลมณีหรืออุโบสถปรกโพธิ์ ซึ่งเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐาน ท่านได้เดินสำรวจบริเวณวัดซึ่งทราบมาบ้างว่าวัดนี้เคยเป็นค่ายทหารจีนบางกุ้งสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีมาก่อน ยามดึกขณะเจริญกรรมฐานมักจะเกิดนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งชุดไทยโบราณมากราบไหว้หลวงพ่อนิลมณีหน้าอุโบสถปรกโพธิ์เป็นประจำ มีลักษณะผอมสูงผมยาวใบหน้างาม แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ต่อมาไม่นานเสาคานที่หน้าอุโบสถหล่นตกลงมาพิงอยู่ข้างอุโบสถ คืนนั้นเองท่านได้นิมิตเห็นผู้หญิงชุดไทยคนเดิมมาบอกให้นำไม้ท่อนนี้มาไว้ที่หลังอุโบสถแล้วให้สร้างศาลด้วยท่านก็ทำตาม

ให้ชาวบ้านช่วยกันนำไม้มาไว้หลังอุโบสถแล้วสร้างศาลให้ตามคำขอร้อง นำไม้ท่อนนั้นแกะสลักเป็นรูปหน้าผู้หญิงไม่มีแขนขาไว้ภายในให้ชื่อว่า “ศาลนางไม้เจ้าจอม” ผู้คนให้ความเคารพนับถือกันมากเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารแก่ผู้คนอยู่เสมอ

ต่อมาพระวินัยธรฯ ได้ฟื้นฟูวัดบางกุ้งร่วมกับประชาชนจนเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง ผู้หญิงแต่งกายชุดไทยโบราณมาปรากฏในนิมิตอีกได้บอกว่าเป็นองค์หญิงพระนามว่า “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)”ต้องการให้สลักรูปองค์หญิงจากไม้ต้นโพธิ์ซึ่งมีอายุประมาณ 100 ปี โดยขอร้องให้แกะสลักทั้งองค์ หลังจากนั้นท่านได้ปรึกษาหารือญาติโยมหาช่างแกะสลัก โดยนายช่างคิดราคาค่าแรง 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) เมื่อตกลงราคากันแล้วพอช่างจะลงมือแกะสลักกลับไม่รู้ว่าจะแกะสลักเป็นรูปองค์แบบใด เพราะไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาองค์หญิงมณฑาทิพย์มาก่อนทำให้แกะสลักไม่ได้

เมื่อการเป็นดังนี้ ท่านเจ้าอาวาสจึงลงมือแกะสลักเองทั้งที่ไม่เคยแกะสลักไม้รูปใด ๆ มาก่อน การแกะสลักไม้เป็นรูปคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ท่านได้ใช้ความพยายามอย่างสูงแกะสลักแบบที่เห็นองค์หญิงในนิมิตเหมือนมีอำนาจอย่างหนึ่งมาดลบรรดาลให้แกะได้สำเร็จ สลักอักษรไว้ที่ฐานว่า “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)”

ภายหลังพระวินัยธร องอาจอาริโยพบหนังสือ “กฎแห่งกรรม” ของท.เลียงพิบูลย์ เข้าโดยบังเอิญพบเห็นเรื่องราวขององค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2291 เช่นเดียวกับที่เคยนิมิตเห็นน่าจะเป็นองค์เดียวกัน มีเนื้อหาดังนี้ “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ประสูติเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2291 เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) กับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ องค์หญิงเป็นพระธิดาของกรมหลวงบวรวังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ บ้านเมืองมีเหตุเดือดร้อนมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงผู้ใดประจบสอพลอผู้นั้นจะได้เป็นใหญ่ทั้งที่ไร้ความสามารถ ผู้ครองแผ่นดินได้แต่ลุ่มหลงและเสพสุขในกามา หากใครมีบุตรีต้องนำตัวมาถวายใครขัดขืนจะถูกประหารชีวิต เหลืออยู่ก็แต่กรมหลวงบวรวังในที่ท่านไม่ทรงยอมข้องเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด ไม่คบค้าสมาคมกับใคร

เมื่อพระธิดาเจริญพระชันษาเป็นสาวให้แต่งองค์เป็นชายพร้อมทั้งข้าทาสบริวารที่เป็นหญิง 300 คน เป็นชายอีก 16 คน จัดให้ฝึกอาวุธเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น ฟันดาบ กระบี่กระบอง หมัดมวย ตำราพิชัยสงคราม องค์หญิงทรงเชี่ยวชาญอาวุธตลอดจนเวทมนตร์คาถา ทรงมีความสามารถด้านวิชาอาคมยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกพม่ายกกองทัพประชิดเมือง ผู้เป็นพระบิดาทรงสั่งให้บ่าวไพร่ต่อเรือใหญ่ 30 ลำ เรือเร็ว 10 ลำ เรือแจว 20 ลำ พร้อมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร อุปกรณ์การก่อสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ลงด้วยอาคมพร้อมเรือคุ้มกันองค์หญิง ซึ่งแต่งกายเป็นชายเยี่ยงชายชาวบ้านธรรมดาหลบหนีออกจากกรุงตอนกลางคืน แต่พระบิดามิได้มาด้วย กองเรือได้ล่องน้ำมาเป็นระยะเวลา 3 วัน พบกองเรือพม่าบรรทุกกระสุน ดินดำ

จึงสั่งให้พลพรรคเข้าโจมตีตอนเวลาดึก จึงเกิดไฟลุกโชติช่วงฆ่าทหารพม่าซึ่งกำลังหลับเพราะเมามายแทบหมดสิ้น จนรุ่งเช้าพม่าส่งกำลังติดตามองค์หญิงทรงสั่งให้กองกำลังหลบตามป่าชายฝั่งแล้วร่ายเวทมนตร์กำบังพรางตาจนพม่าพ้นไป กองเรือหนีเล็ดรอดไปได้อย่างปลอดภัย แล้วหาทำเลสร้างเมืองเล็ก ๆ อยู่ เมื่อคราวศึกบางกุ้งองค์หญิงได้ทรงคุมกำลังเข้าช่วยรบพม่าเป็นสามารถจนได้รับชัยชนะ เมื่อสิ้นอายุขัยดวงพระวิญญาณยังผูกพันกับวัดบางกุ้งยังคงวนเวียนอยู่ที่ศาลคอยแผ่บารมีให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อนที่มาขอพึ่งพา

ขอบคุณเจ้าของภาพและบทความ“กฎแห่งกรรม” ของท.เลียงพิบูลย์ และจากวิกิพีเดีย สารานุกรม

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

กุรุนทนคร เมืองรจนา

ในภาพอาจจะมี ท้องฟ้า, ต้นไม้ และ สถานที่กลางแจ้ง

เมืองรจนา กุรุนทนคร
.
ภูเขียว เป็นอำเภอที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงหนือของจังหวัดชัยภูมิ มีประวัติความเป็นมายาวนาน หลักฐานทางโบราณคดีมีการค้นพบร่องรองของชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดิน ใบเสมาจารึกอักษรปัลลวะ และโบราณสถานในศิลปะแบบศรีโคตรบูร (ก่อนยุคขอม) อยู่หลายแห่ง สันนิษฐานว่าน่าจะปรากฏเป็นบ้านเมืองมาแล้วราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 17
.
ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงเมืองกุรุนทนครว่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหนองหาน ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนโบราณในเขตอำเภอภูเขียวในปัจจุบัน ชุมชนในแถบนี้คงมีความเจริญและมีการอยู่อาศัยของผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านเข้าสู่สมัยอิทธิพลจักรวรรดิ์ขอมแล้ว ก็ปรากฏร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุ
.
พระธาตุหนองสามหมื่น ตั้งตามชื่อหนองน้ำขนาดใหญ่คือหนองสามหมื่นที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน เหล่ากันว่าเป็นหนองที่ขุดขึ้นโดยใช้กำลังคนสามหมื่นจึงเรียกหนองสามหมื่น เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันถึงการเป็นแหล่งที่ตั้งของชุมชนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา ล้างช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่ามีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 สมัยพระไชยเชษฐาธิราช แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง
.
พระธาตุหนองสามหมื่นมีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความสูงประมาณ 45 เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน เหนือฐานเขียงเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์พระธาตุ ซึ่งมีซุ้มทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง และปางลีลา ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รูปแบบดังกล่าวอาจเปรียบเทียบได้กับพระธาตุอื่นๆ ทั้งในนครเวียงจันทน์และในเขตไทย เช่น พระธาตุวัดเทพพล เมืองเวียงคุก จังหวัดหนองคาย พระธาตุศรีเมือง นครเวียงจันทน์ เป็นต้น
.
อีกทั้งยังพบเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ชาวบ้านเรียกว่าเมืองรจนา ภายในเมืองมีกู่ที่เรียกกันว่ากู่พระสังข์ และมีเนินดินอีกแห่งเรียกว่าโนนบ้านเก่าพบเสมาหินสลักศิลปะแบบสมัยศรีโคตรบูรจำนวนหลายแผ่น มีการนำบางส่วนมาเก็บรักษาไว้ที่วัด มีอยู่แผ่นหนึ่งที่มีรอยจารึกชาวเมืองภูเขียวนำไปทำเป็นหลักเมือง หลักฐานเหล่านี้ทำให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า พื้นที่แถบนี้น่าจะก่อตั้งเป็นชุมชนมาแล้วตั้งแต่สมัยศรีโคตรบูร สมัยอาณาจักรขอม (เนื่องจากพบเสาหินศิลาแลงอยู่ภายในวัดด้วย) ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงอาณาจักรลาวล้านช้าง
.
แต่เดิมวัดพระธาตุหนองสามหมื่นเป็นวัดเล็กๆ มีพระสงฆ์ประจำอยู่เพียงกุฏิเดียว แต่เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน หลวงพ่อศรีทัต วิปัสสโน มาจากโคราชมาดำรงตำหน่งเจ้าอาวาส ก็ได้พัฒนาวัดสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมากมาย จากเดิมที่มีเพียงกุฏิเพียงหลังเดียวกับสิมไม้ริมน้ำ ก็ขยายเป็นสร้างอุโบสถ พระนอนองค์ใหญ่ ศาลาพันห้อง รอยพระพุทธบาทจำลอง หุ่นจำลองพระมาลัย นรก-สวรรค์ หลวงพ่อศรีทัต วิปัสสโน มรณภาพเมื่อไปเมื่อก่อน พ.ศ.2527 ปัจจุบันยังมีรูปหล่อจำลองของหลวงพ่ออยู่ในศาลาเล็กๆ นอกเขตกำแพงแก้วด้านหน้าอุโบสถให้ชาวบ้านมาเคารพสักการะอยู่