วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

เมืองกำเนิดต้นราชวงศ์จักรี


เมืองใดคือเมืองกำเนิดต้นราชวงศ์จักรี 
พระปฐมบรมมหาชนก (17 รูป)
-----------------------------------------------------
  • ไขปริศนา..เมืองใดคือเมืองกำเนิดต้นราชวงศ์จักรี พระปฐมบรมมหาชนก
  • ชนเผ่าไทย ดำรงเผ่าพันธุ์มานานกว่า 1,000 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวมี 3 สถาบันที่คำจุนความเป็นเผ่าพันธุ์ในสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศรอบด้านของอาณาจักรไทย เช่น เขมร ลาว พม่า มาเลเซีย ฯลฯ 
  • เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล่มสลายลง ชนชาติเหล่านั้นก็พังทลายลงด้วย ต้องตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ สูญสิ้นอารยธรรมตนเอง
  • และต้องเริ่มต้นอารยธรรมใหม่ ที่ไม่ใช่รากเหง้าของตนเอง เช่น อารยธรรมจากชาติตะวันตก เป็นการเสียอารยธรรมเก่าแก่ของชนชาติอย่างถาวร โดยไม่มีวันหวนกลับ 
  • ดังนั้นสังคมไทยจึงมีความผูกพันอยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สร้างชนชาติขึ้นมาครั้งแรก หากเริ่มนับแต่อาณาจักรสุโขทัย ก็เป็นเวลานานกว่า 700 ปี และผ่านยุคสมัย คือ อยุธยา ธนบุรี สู่รัตนโกสินทร์ 
  • จังหวัดอุทัยธานี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันไว้ว่า เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว 
  • โดยพบหลักฐานยืนยันในหลายพื้นที่ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินกระเทาะจากหินกรวด ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา เขาปลาร้า เป็นต้น
  • ตำนานเก่าแก่เล่าว่า สมัยสุโขทัย ท้าวมหาพรหม ได้เข้ามาตั้งเมือง ที่บ้านอุทัยเก่า ซึ่งถือเป็นแหล่งที่อยู่ของคนไทย จึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" 
  • เนื่องจากขณะนั้นชุมชนส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มบรรพบุรุษมอญ และละว้า ต่อมาแม่น้ำเปลี่ยนทางน้ำไหล ทำให้เกิดเมืองกันดารน้ำ เมืองอู่ไทยจึงถูกทิ้งร้างจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา
  • ต่อมาได้มีชาวละว้า หรือกะเหรี่ยง เข้ามาตั้งเมือง และปรับปรุงพื้นที่ โดยขุดทะเลสาบกักน้ำได้เรียกว่าเป็น "เมืองอุไทย" ตามสำเนียงชาวพื้นเมือง มีฐานะเป็นหัวเมืองด่านชั้นเอก ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ ( สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ) ที่เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 31 แห่งกรุงศรีอยุธยา 
  • เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) มีบุตรชาย ชื่อ ทองคำ บิดาได้นำท่านเข้าถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก จมื่นมหาสนิท ในสมเด็จเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) 
  • ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรฯ จึงได้ให้นายทองคำ ซึ่งตำแหน่งเป็น จมื่นมหาสนิท หัวหมื่นมหาดเล็ก ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง เมืองอุไทย
  • เพื่อคอยกะเกณฑ์สิ่งของและทำราชการ ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดการเสด็จประพาสล้อมช้างป่า และเมืองอุทัยธานี เป็นหัวเมืองด่านที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ข้าว ช้างป่า มูลค้างคาว ไม้ ผลกระวาน ฯลฯ สำหรับใช้ในกองทัพ และเป็นยุทธปัจจัยของ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชร ฯ ในโอกาสที่ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์ต่อไปด้วย 
  • ขณะที่จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) อยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ภรรยาได้ให้กำเนิดบุตรชายคนโตคนหนึ่งชื่อ "ทองดี" 
  • ครั้งเมื่อ พ.ศ. 2251 สมเด็จเจ้าฟ้าเพชร ฯ ได้ขึ้นครองราชย์เป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 " พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา 
  • จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) มีความดีความชอบ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระยาราชนกูล ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย 
  • ดังนั้นครอบครัวนี้ จึงได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ตรงเหนือป้อมเพชร ส่วน “นายทองดี” บุตรชายของท่านนั้น เมื่อมีอายุพอที่จะเข้ารับราชการได้แล้ว พระยาราชนิกูลบิดา ก็นำไปรับราชการอยู่ที่กรมมหาดไทย คอยช่วยเหลืองานอยู่กับตน ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา 
  • ในที่สุดนายทองดี ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น "หลวงพินิจอักษร" ครั้นอายุได้ 20 ปี หลวงพินิจอักษรก็อุปสมบท และเมื่อลาสิกขาบทแล้ว พระยาราชนิกูล (ทองคำ) บิดา ได้สู่ขอบุตรีของคหบดีชาวจีน หลานสาวพระยาอภัยราชา สมุหนายกว่าราชการแผ่นดิน ให้แต่งงานอยู่กินกันตามประเพณี คนพี่ชื่อว่า ดาวเรือง (หยก) ส่วนคนน้อง ไม่ทราบนาม 
  • ตั้งบ้านเรือนอยู่ภายในกำแพงพระนคร ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณป้อมเพชร ซึ่งเป็นย่านอาศัยของชาวจีน 
  • ต่อมาหลวงพินิจอักษร (ทองดี) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น พระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์ตราต่าง ๆ โต้ตอบกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ ของพระมหากษัตริย์ และรักษาพระราชลัญจกรอันเป็นตราประจำแผ่นดิน
  • ท่านทั้งสองมีศรัทธา บริจาคทรัพย์สร้างพระอารามใกล้นิเวศสถานเคหะ เมื่อเสร็จแล้วให้นามว่า "วัดสุวรรณดาราราม" อยุธยา ปรากฏอยู่มาจนทุกวันนี้ ท่านทั้งสองมีบุตรธิดา 5 คน คือ
    • 1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา
    • 2. สมเด็จพระเจ้ารามณรงค์ เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนรามณรงค์ ไม่ปรากฏพระนามเดิม
    • 3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระนามเดิม แก้ว
    • 4. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 ) พระนามเดิม ทองด้วง
    • 5. สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา
  • เมื่อเจริญวัยขึ้น นายทองด้วง ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) 
  • ครั้นพระชนมายุครบ 21 พรรษา ก็เสด็จออกผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลาย 1 พรรษา แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง ในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังเดิม 
  • เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา พระองค์เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี ในตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร" ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ 
  • และได้สมรสกับคุณนาค (ภายหลังได้รับการสถาปนาที่ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญ ที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม 
  • พ.ศ.2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 แก่พม่าแล้ว พระยาตาก (สิน) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี 
  • ในขณะนั้นหลวงยกกระบัตร มีพระชนมายุได้ 32 พรรษา และได้เข้าถวายตัวรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตามคำชักชวนของพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้เป็นน้อง
  • โดยทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "พระราชริน (พระราชวรินทร์)" เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา 
  • และทรงย้ายนิวาสสถานมาอยู่ที่บริเวณวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในปัจจุบัน) 
  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จขึ้นไปตีเมืองพิมาย ซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเจ้าเมืองพิมายอยู่ 
  • พระราชริน และพระมหามนตรี ได้รับพระราชโองการ ให้ยกทัพร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย หลังจากการศึกในครั้งนี้ พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาอไภยรณฤทธิ์" จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จที่มีความชอบในการสงครามครั้งนี้ 
  • พระบรมราชชนก พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) พร้อมด้วยภรรยา และนายลา บุตรคนสุดท้อง เดินทางไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลก แต่เกิดป่วยจนเสียชีวิต 
  • นายลา และมารดา จึงได้ทำการฌาปนกิจศพตามสมควรในเวลานั้น ต่อมาจึงเชิญอัฐิบรรจุในมหาสังข์ มามอบแด่พระยาอไภยรณฤทธิ์ (รัชกาลที่ 1 ) ที่กรุงธนบุรี
  • ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพระฝางสำเร็จแล้ว มีพระราชดำริว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) นั้นมิแกล้วกล้าในการสงคราม 
  • ดังนั้น จึงโปรดตั้งพระยาอไภยรณฤทธิ์ ขึ้นเป็น "พระยายมราช" เสนาธิบดีกรมพระนครบาล โดยให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรี ถึงแก่กรรมแล้ว 
  • พระองค์จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยายมราชเป็น "เจ้าพระยาจักรี" ที่สมุหนายก พร้อมทั้งโปรดให้เป็นแม่ทัพ เพื่อไปตีกรุงกัมพูชา 
  • โดยเจ้าพระยาจักรี สามารถตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ และเมืองพุทไธเพชร (เมืองบันทายมาศ) ได้ 
  • เมื่อสิ้นสงคราม สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ โปรดให้นักองค์รามาธิบดี ไปครองเมืองพุทไธเพชร ให้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชา 
  • และมีพระดำรัสให้เจ้าพระยาจักรี และพระยาโกษาธิบดี อยู่ช่วยราชการที่เมืองพุทไธเพชรจนกว่าเหตุการณ์จะสงบราบคาบก่อน 
  • ต่อมาพระองค์เป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับพม่า เขมร และลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย 
  • ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก" และทรงได้รับพระราชทานให้ทรงเสลี่ยงงากลั้นกลด และมีเครื่องยศเสมอยศเจ้าต่างกรม 
  • พ.ศ. 2325 ได้เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี คือ พระยาสรรค์ได้ตั้งตัวเป็นกบฏ ขณะนั้นสมเด็จเจ้า พระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จกลับจากกัมพูชา มาที่กรุงธนบุรี แล้วปราบปรามกบฏ 
  • ขณะนั้นไทยมีหนี้สินกับจีนมาก เพราะใช้เงินมากอบกู้เอกราชคืนจากพม่า จึงมีกุศโลบายเปลี่ยนแผ่นดินให้หนี้สินหมดลง สมัยกรุงธนบุรีจึงสิ้นสุดลงในที่สุด
  • วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 46 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
  • และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรี มาอยู่ฝั่งพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ
  • และโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) มาประดิษฐานยังวัดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
  • หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า 
    • "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หรือเรียกว่า "กรุงเทพมหานคร" ทรงสถาปนาราชวงค์จักรี และสถาปนาพระอัฐิของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ผู้เป็นพระบิดาขึ้นเป็น "พระปฐมบรมมหาชนก" 
  • พ.ศ.2338 ทรงถวายพระเพลิงพระปฐมบรมมหาชนก และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ และมีเครื่องมหรสพสมโภช เหมือนอย่างงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา 
  • เมื่อเสร็จพระราชพิธีถวายพระเพลิงแล้ว ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิ กลับมาประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง 
  • และได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธปฏิมากรปางห้ามสมุทร หุ้มทองคำประดับเนาวรัตน์ขึ้นองค์หนึ่ง ถวายพระนามว่า “พระพุทธจักรพรรดิ” 
  • ทรงอุทิศส่วนพระราชกุศล ถวายแด่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระพุทธรูปพระองค์นี้ประดิษฐานไว้ ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ประเทศไทย 
  • พ.ศ. 2514 จังหวัดอุทัยธานี ได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ “ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก “ พระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ประดิษฐานอยู่ ณ เขาแก้ว (เขาสะแกกรัง) ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดขนานกับแม่น้ำสะแกกรัง 
  • พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระวิสูตรพระบรมรูป สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก 
  • เป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าองค์จริง ประทับในพลับพลาจตุรมุข หน้าบรรณศาลาได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ตราจักรีประดับ ณ เขาสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี และทุก ๆ ปี จะมีพิธีถวายราชสักการะ "สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก" เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงค์จักรี ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเปี่ยมล้น 
  • กรุงรัตนโกสินทร์ มีพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี 9 รัชกาล ทรงปกครองแผ่นดินสวรรณภูมิแห่งนี้ยาวนานมากกว่า 230 ปี บูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งแผ่นดิน ทรงทำหน้าที่ปกครอง และปกป้องอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม 
  • ทรงนำความสงบสุขร่มเย็น ให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย แม้นยามมีศึกสงคราม พระองค์จะทรงทำหน้าที่จอมทัพ ทรงเป็นผู้นำของราษฎรในสนามรบ ทรงปกป้องเอกราชของชาติให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทย ในยามสงบ ทรงทำหน้าที่ปกครองดูแลบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ทวยราษฎร์ สร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรไทย อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ 
  • สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเสาหลักที่ค้ำจุนความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติมาตั้งแต่โบราณกาล ทรงมีบทบาทสำคัญโดยตรงต่อการสร้างชาติ ดำรงชาติ และพัฒนาชาติให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับอารยประเทศ ดำรงความเป็นเอกราชของชาติไทย จวบจนปัจจุบันด้วยพระบารมีแห่งบูรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์ 
  • พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์” หรือ “วันจักรี” 
  • เพื่อให้พสกนิกรไทย ได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบูรพมหากษัตริย์ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ที่ได้ทรงมีต่อประเทศชาติและพสกนิกรไทย 
  • พ.ศ. 2475 สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชปรารภว่า อายุพระนครจะบรรจบครบ 150 ปี 
  • สมควรมีการสมโภช และสร้างสิ่งสำคัญเป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฎแก่อารยชนในนานาประเทศ ว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ ที่ได้สร้างกรุงเทพมหานครฯ เป็นราชธานีแล้วบำรุงรักษาประเทศ ให้เป็นอิสระสืบมา 
  • ทรงปรึกษาพระราชปรารภ แก่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดี ซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์มี 2 สิ่งประกอบกัน คือ “พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” องค์ปฐมกษัตริย์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี และพระราชทานนามว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” 
  • ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้ถือวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่ง กำหนดให้หยุดราชการและให้ ชักธงชาติ และได้กำหนดให้มี การถวายบังคมพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมราชานุสรณ์ 
  • สำนักพระราชวัง ได้ออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนิน ไปถวายสักการะพระบรมรูปที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ และถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งรับได้การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน 
  • คนไทยควรจะมีความภาคภูมิใจในอารยธรรมเก่าแก่ สถาบันพระมหากษัตริย์ ของชนชาติไทย และเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ค้ำจุนกับสถาบันชาติ และศาสนา 3 สถาบันหลักนี้ เพื่อดำรงค์ชนชาติไทยต่อไปอีกนานแสนนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น