วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

ตำนานอุรังคธาตุ ๑๓



ตำนานอุรังคธาตุ ๑๓

        ขณะนั้น นางทั้ง ๒ จึงมาคอยคารวะไหว้นบอยู่ ณ ที่นั้น  พระนางเห็นนางทั้ง ๒ มีพระทัยรักใคร่ยิ่งนัก พระนางจึงพระราชทานเครื่องยศเป็นต้นว่า ขัน กาทองคำ ม้าวทองคำประดับเพ็ชร ปิ่นเกล้าทองคำประดับเพ็ชร ต่างหูทองคำฝังเพ็ชร พร้อมทั้งพระภูษาทุกสิ่งเสมอกันทั้ง ๒ นาง แล้วพระยาจันทบุรีจึงได้นำอัครมเหษีทั้ง ๓ ไปสู่ภูเขาหลวงเพื่อทำการสักการบูชา

       ขณะนั้น พระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์จึงได้พร้อมกันอธิษฐานพระบรมธาตุว่า  ผิว่าพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าจะประดิษฐานตั้งอยู่ที่ภูเขาหลวงตลอด ๕,๐๐๐ พระวรรษา ในฐานันตรอันนี้วิเศษแท้ ขอให้แผ่นดินจงแยกออกเป็นหลุมลึก ๘ วา กว้างด้านละ ๑๐ วา ทั้ง ๔ ด้านเทอญ

       ทันใดนั้น แผ่นดินก็แยกออกตามคำอธิษฐานของพระอรหันต์แท้จริง  พระยาจันทบุรีทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ก่อเป็นอุโมงค์หินเรียงกันขึ้น แต่เต้าฝาทั้ง ๔ ด้านๆละ ๕ วา หนา ๒ วา สูง ๔ วา ๓ ศอก หินที่ก่อนั้นหมด  คนทั้งหลายไปเที่ยวหาหินมาได้แห่งละเล็กละน้อยไม่พอ

       ทันใดนั้น ปัพพารนาคจึงเนรมิตเป็นผ้าขาว ถือไม้แทกค่าตัว๑เมื่อเป็นนาคนั้น มาบอกแก่คนทั้งหลายว่า หินของแกกองไว้เบื้องตะวันตกตรงนั้นมากหลาย  ท่านทั้งหลายจงไปเอามาก่อให้แล้วเทอญ

  • เชิงอรรถ ๑ “ไม้แทกค่าตัว” ไม้วัดแค่ตัว

คนทั้งหลายว่าไกลหรือใกล้จา  ผ้าขาวว่าแทกไปแต่นี้ ๑,๐๐๐ ชั่วไม้อันนี้  คนทั้งหลายว่าไม้แทกยาวนัก เราบ่ไป  ผ้าขาวจึงทำให้ไม้นั้นหด๑ลงมาให้ได้เสมอวาด้าม๒  คนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ด้วยไม้นั้น  เขาจึงเข้าไปไหว้พระอรหันต์และกราบทูลพระยาจันทบุรีว่า  ผ้าขาวปะ๓ไม้อันนั้นไว้ที่หินต่อหน้า

       พระอรหันต์จึงบอกแก่คนทั้งหลายว่า  นั้นคือปัพพารนาคที่อยู่ใต้พื้นภูเขานี้แหละมาช่วยเรา ท่านทั้งหลายจะหาแผ่นหินได้ง่ายไม่ยากแล้ว  คนทั้งหลายผู้ได้แจ้งเหตุนั้นจากพระอรหันต์ จึงเอาไม้วัดแต่ที่นั้นไปได้ ๑,๐๐๐ ชั่วไม้สุด พอพบหิน ๓ ก้อนงามนัก คนทั้งหลายจึงพูดกันว่าไม่เอาๆ เราควรเอาไม้วัดไปให้แน่ก่อน  พญานาคบอกว่าหินมีมากนัก  คนที่วัดและคนที่นับวาวัดมาได้ ๑,๐๐๐ ชั่วไม้แล้วก็ไม่เห็นมีกองหิน  ฝ่ายคนหนึ่งจึงว่า ได้เท่าใดก็เอาเท่านั้น อย่าให้เสียเวลาที่มา แล้วจึงพากันหามหิน ๓ ก้อนนั้นมา หินซ้ำเกิดขึ้นมาอีกเป็น ๖ ก้อน  เขาทั้งหลายจึงพร้อมกันหาเอามาอีก หินนั้นซ้ำเกิดมาอีกเป็นอันมาก ไม่รู้จักหมดจักสิ้น  คนทั้งหลายที่ไปเอาหินนั้นจึงพูดกันว่า เราเห็นว่าสำเร็จแน่  เมื่อสำเร็จ เราทั้งหลายจงพร้อมกันสร้างแปลงรูปรอยเท้าพระอรหันต์ปากคิ้ว๔เป็นเครื่องหมายไว้ในที่นี้ และจารึกไว้ว่า “บาทลักษณ์พระอรหันต์พันค่า” แต่นั้นมา

  • เชิงอรรถ ๑ “หด” ในที่นี้ ทำให้สั้นหรือย่น  ๒ “วาด้าม” หมายความว่า วาอก  ๓ “ปะ” ละทิ้ง  ๔ “ปากคิ้ว” พูดจาแน่นอน, พูดถูกต้อง

คนทั้งหลายได้หินแล้วจึงได้ก่อขึ้นวันละ ๓ คืบ แล้วไปด้วยซะทายลายจีน และมีการมหรสพบูชาทุกวันทุกคืนมิได้ขาดจนสำเร็จ

       พระยาจันทบุรีจึงตรัสสั่งให้ช่างแผ่แผ่นทองคำ ๓ แผ่น ขนาดกว้าง ๒ วา เป็น ๔ เหลี่ยม ขนาดเท่าใบลาน  นางทั้ง ๒ ให้ช่างแผ่แผ่นเงินที่บริสุทธิ์คนละแผ่น  ใหญ่และหนาเท่าแผ่นทองคำ  พระยาจันทบุรีจึงตรัสสั่งให้เอาแผ่นเงินทั้ง ๓ นั้นรองพื้น  เอาแผ่นทองคำทับลงไปทั้ง ๓ แผ่น แล้วจึงให้เอารูปสิงห์ทองคำเข้าบรรจุตั้งบนแผ่นทองคำ  เอาอุโมงค์ทองคำตั้งบนหลังสิงห์นั้นอีกชั้นหนึ่ง แล้วพระองค์จึงเอาเสื้อที่เอกจักขุนาคและกายโลหนาคให้นั้น ถวายบูชาป้อง๑หางสิงห์ไว้  พระยาจันทบุรีทอดพระเนตรเห็นนางอินทสว่างเอาปิ่นเกล้าใส่บูชาไว้ด้วย  พระองค์ทรงคำนึงถึงเซิดที่สหัสนาคให้ จึงทรงบูชาไว้ในที่นั้นเหมือนกัน

       ทันใดนั้น พระอรหันต์จึงนำเอาพระบรมธาตุหัวเหน่า ๒๙ องค์ ถวายพระยาจันทบุรี  พระองค์ทรงรับเอาพระบรมธาตุเข้าบรรจุขวดไม้จันทน์ที่สุคันธนาคให้นั้น ๑๐ องค์  ขวดแก้วผลึกที่สุปรสิทธิสักกเทวดาให้นั้น ๑๐ องค์  นางทั้ง ๓ รับเอาพระบรมธาตุที่เหลือนั้น

  • เชิงอรรถ “ป้อง” กัน, รอง

เข้าบรรจุในผอบทองคำนางละ ๓ องค์ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์ทองคำที่ตั้งอยู่บนหลังสิงห์นั้น แล้วพระองค์จึงให้ช่างกระทำยนต์ง้าวกวัดแกว่งไว้ในที่นั้น ๔ ด้าน จึงกลบดินให้เสมอดังเก่า  พระอรหันต์จึงให้คนทั้งหลาย เอาหินที่พราหมณ์ฝังไว้แต่ก่อน มาฝังหมายไว้เสมอยอดอุโมงค์  เมื่อเสร็จการบรรจุพระบรมธาตุแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับคืนมาสู่พระนคร

       ครั้งนั้น พระรัตนเถระ และ จุลรัตนเถระ จึงพร้อมกันนำเอาพระบรมธาตุเขี้ยวฝาง ๔ องค์ มาประดิษฐานไว้ที่ท่าหอแพ  ส่วนมหาสุวรรณปาสาทพี่น้องนั้น นำเอาพระบรมธาตุเขี้ยวฝาง ๓ องค์ มาประดิษฐานไว้ที่โพนจิกเวียงงัว  ส่วนพระมหาสังขวิชเถระนั้น นำเอาพระบรมธาตุฝ่าเท้า ๙ องค์ ไปประดิษฐานที่เมืองลาหนองคาย  น้าเลี้ยงพ่อนมพร้อมด้วยชาวเมือง สร้างอุโมงค์สำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุนั้นใต้พื้นแผ่นดิน ขนาดกว้างด้านละ ๒ วา ๒ ศอก  สูง ๓ วา แล้วไปด้วยซะทะลายจีน จึงเอาแผ่นเงินบริสุทธิ์รองพื้น แล้วนำเอาพระบรมธาตุเข้าบรรจุในผะอบทองคำ  นำไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์นั้น

       ครั้งนั้น พระอรหันต์ ป่าใต้ ป่าเหนือ ก็เข้าสู่นิพพานเรียงวันคืนกัน  มหาสังขวิชเถระก็กลับคืนมาหา มหาสุวรรณปาสาทพี่น้องที่โพนจิกเวียงงัว แล้วพร้อมกันมาหามหารัตนเถระเจ้าพี่น้องที่หอแพ เพื่อจะได้พากันมาคารวะพระอรหันต์ทั้ง ๒ ที่เข้าสู่นิพพานนั้น

  • เชิงอรรถ –

       พระอรหันต์ทั้ง ๕ มาถึงเสมอหนองแปว๑เชษฐไชยนาคค่ำพอดี  เชษฐไชยนาคจึงเนรมิตหอไชยไว้ ๕ หลัง ให้เป็นที่พักพระอรหันต์ทั้ง ๕  ครั้นรุ่งเช้าจึงได้ออกมาบิณฑบาต ข้ามสะพานเข้าไปในพระราชฐาน  พระยาจันทบุรีทรงบาตรแล้วจึงอาราธนาพระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์ให้อยู่โปรด  มหารัตนเถระพี่น้อง มหาสุวรรณปาสาทพี่น้อง เดินตามริมบึงเลาะเลียบคืนไปหาที่อยู่สบาย ถึงเสมอหาดทรายผ่อหล่ำ  ที่นั้นเป็นที่เที่ยวไปมาของของเชษฐไชยนาคๆเนรมิตเป็นผ้าขาวถือเผียก๒ไหมขาวฟั่น ๗ เกลียว มาไหว้พระอรหันต์ทั้ง ๔ ว่า  ข้าน้อยเอาเผียกอันนี้ วัดแต่ริมน้ำของขึ้นมาสุดเผียกแค่ตัวเมื่อเป็นนาคนั้น ได้ ๓๐ ชั่วเผียกนี้  ที่นั้นเป็นมงคลยิ่งนักแล  พระอรหันต์ทั้ง ๔ รู้ว่าไชยเชษฐนาคก็รับนิมนต์ทั้ง ๒ องค์  คือมหารัตนเถระและจุลรัตนเถระ ให้อยู่ในที่สุดของเผียกที่นั้น  เชษฐไชยนาคจึงว่า เจ้ากูอยู่ที่กกเผียกนี้ ๒ องค์เทอญ

       แล้วไชยเชษฐนาคจึงเอาเผียกวัดแต่ป่ากกเผียกออกไปนอกทางท้ายหนองคันแทเสื้อน้ำนั้นได้ ๓๓ ชั่วเผียกเป็นที่สุด และที่นั้นก็เป็นที่เที่ยวไปมาของเชษฐไชยนาคๆจึงนิมนต์ให้มหาสุวรรณปาสาทเถระอยู่ในที่นั้น  สถานที่นั้นคนทั้งหลายจึงให้ชื่อว่า “ร่องนาคา” และที่ต้นเผียกนั้นให้ชื่อว่า “ป่ากกเผียก”

       เชษฐไชยนาคจึงเอาเผียกนั้นมาทบเข้าเป็น ๔ ทบแล้วตัดออก

  • เชิงอรรถ ๑ “แปว” ปล่อง  ๒ “เผียก” เชือกสำหรับวัด,กระแส

เป็น ๔ ท่อน เอาถวายมหารัตนพี่น้ององค์ละท่อน เอาถวายมหาสุวรรณปาสาทพี่น้ององค์ละท่อน  เสร็จแล้วเชษฐไชยนาคก็กลับไปสู่ที่อยู่แห่งตน

       ส่วนมหาสังขวิชเถระนั้น ไปเที่ยวแสวงหาที่อยู่ตามริมน้ำห้วยมงคล  อินทจักกนาคเนรมิตเป็นผ้าขาวมาปักธงไว้  ที่เสาธงนั้นเขียนบอกไว้ว่า ที่นี้ดีนัก  เจ้ากูจงอยู่ที่นี้เทอญ  มหาสังขวิชเถระก็รู้ได้ว่าเป็นนาคก็มีความยินดีจึงกล่าวว่า  ที่นี้ชะรอยจะเป็นที่ประเสริฐ พระพุทธศาสนาก็จะตั้งรุ่งเรืองในที่นี้ แล้วก็เข้าสำนักอยู่ในที่นั้น

       เมื่อพระอรหันต์ทั้ง ๕ อยู่ในที่นั้นๆแล้ว  ครั้นรุ่งเช้าจึงเข้าไปบิณฑบาตโปรดพระยาจันทบุรีๆพระองค์จึงตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ไปสร้างวิหารให้พระอรหันต์ทั้ง ๕ อยู่ในที่นั้นๆองค์ละหลัง  ครั้งนั้นเป็นฤดูกาลเข้าพรรษา  ครั้นถึงวันขึ้น ๗,๘ ค่ำ ๑๔,๑๕ ค่ำ หรือแรม ๗,๘ ค่ำ ๑๔,๑๕ ค่ำ  พระอรหันต์ทั้ง ๕ จึงพร้อมกันไปสู่วัดสวนอ้วยล้วย  สั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ในวัดนั้นทุกวันมิได้ขาด  พระยาจันทบุรีพระองค์นำเอาธาตุพระอรหันต์ป่าใต้ป่าเหนือทั้ง ๒ ที่นิพพานไปแล้วฐปนาไว้กับที่นั้น

       ครั้นออกพรรษาแล้ว  พระอรหันต์ทั้ง ๕ จึงหนีออกไปอยู่ป่าโพนภายนอกที่ปากห้วยบางพวน ๔ องค์ มีมหารัตนเถระเป็นประธาน  ส่วนมหาสังขวิชเถระนั้นอยู่ที่ปากห้วยบางพวนก้ำใต้  พอเวลาใกล้รุ่ง

  • เชิงอรรถ –

ปัพพารนาคเอาผ้าสาฎกผืนหนึ่งยาว ๑๐ วา มาถวายพระสังขวิชเถระ  น้าเลี้ยงพ่อนมจึงนำเอาผ้านั้นมาตัดเป็นพระยาผ้า๑หมดทั้ง ๑๐ วา  ผ้านั้นก็เกิดเพิ่มขึ้นมาตามจำนวน  น้าเลี้ยงพ่อนมก็เอาผ้าที่เกิดใหม่นั้นมาตัดเป็นพระยาผ้าจนครบทั้ง ๕ ผืน  เมื่อครบจำนวนแล้ว ผ้านั้นก็หาบังเกิดขึ้นอีกไม่

       และผ้าผืนที่หนึ่งนั้นนำเอาไปถวายมหารัตนเถระ  ผืนที่ ๒ ถวายจุลรัตนเถระ  ผืนที่ ๓ ถวายมหาสุวรรณปาสาท  ผืนที่ ๔ ถวายจุลสุวรรณปาสาท  ผืนที่ ๕ ถวายมหาสังขวิชเถระๆได้ทรงผ้าแล้วก็มารวมกันอยู่ที่ป่าโพนภายนอก คืนนั้นมีความสุขยิ่งนัก ด้วยเหตุที่ได้ทรงผ้าที่ปัพพารนาคถวาย

       ครั้งนั้น พระอรหันต์ทั้ง ๕ ซาบซึ้งในคาถา ๔ บท ซึ่งพระมหากัสสปเถระเจ้าแสดงไว้แต่ชาติปางก่อนนั้นว่า “คจฺฉนฺติ นรคจฺฉนฺติ”  อธิบายว่า ผู้ประเสริฐเทียวทางมาพบกันเข้า ก็ซ้ำยิ่งประเสริฐกว่าเก่า  ได้แก่มหารัตนพี่น้อง เมื่อครั้งเป็นพระยาสุวรรณภิงคารและพระยาคำแดง  ตามปัญหาเทียบว่า เขือไป “โก เว นรโก เว” ผู้ฉลาดต่อผู้ฉลาดมาพบกันเข้า ก็ยิ่งซ้ำฉลาดยิ่งกว่าเก่า  ได้แก่มหาสุวรรณปาสาทพี่น้อง  เมื่อครั้งเป็นพระยาจุลนีพรหมทัตและพระยาอินทปัฐนคร ตามปัญหาเทียบมาว่า ขามา “เญยฺยา นรเญยฺยา” ผู้รู้ต่อผู้รู้มาพบกันเข้า ก็ซ้ำรู้ยิ่งกว่าเก่า  ได้แก่มหาสังขวิชเถระเมื่อเป็นพระยานันท

  • เชิงอรรถ ๑ “พระยาผ้า” ในที่นี้หมายถึง ผ้าสำคัญในประเภทผ้าครอง

เสน ได้มาพบพระยาติโคตรบูรที่เมืองร้อยเอ็จประตู ซ้ำมาพบกันในชาตินี้  ปัญหาเทียบว่า ขาไป “สากนติ นรสากนติ”  ได้แก่พระยาติโคตรบูรและนางรัตนเกสี  พระยาจันทบุรีกับนางอินทสว่างลงฮอด เคยเป็นสามีภรรยากันมาแล้วแต่ชาติก่อน  เมื่อเทียวทางมาพบกันเข้า ก็ย่อมได้เป็นสามีภรรยากันโดยไม่ต้องสงสัย ตรงตามปัญหาเทียบว่าเขือมานั้นแล

       ครั้งนั้น พระอรหันต์เจ้าทั้ง ๒ ป่าเหนือป่าใต้ รู้แจ้งในปุพเพสันนิวาสญาณของพระยาจันทบุรีและพระราชเทวีว่าเคยร่วมกันมาแต่ชาติก่อน พาดพิงไปถึงพระยาสุมิตตธรรมเมืองมรุกขนคร  เพื่อได้ฐปนาพระอุรังคธาตุพระพุทธเจ้าที่ภูกำพร้า

       พระอรหันต์ทั้ง ๕ จึงได้พากันไปสู่เมืองมรุกขนคร  เข้าไปบิณฑบาตตามริมแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าทรงอธิษฐานรอยบาทไว้ให้แก่พญาปลา  พระอรหันต์ทั้ง ๕ ครั้นออกจากพระนครมา  ได้เอาข้าวให้ทานแก่ปลาทั้งหลาย ณ ที่นั้นแล้วกล่าวว่า “ทีฆายุโก โหตุ” ปลาทั้งหลายจงมีอายุยืนเทอญ  คนทั้งหลายได้ยินถ้อยคำของพระอรหันต์ดังนั้น จึงให้ชื่อบ้านที่นั้นว่า “บ้านเชียงยืน” แต่นั้นมา

       แล้วพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงได้กลับข้ามแม่น้ำไปฉันข้าวที่พราหมณ์ทั้ง ๕ ว่าเมืองมรุกขนครจะย้ายขึ้นมาตั้งอยู่ ณ ที่นี้  เมื่อพระอรหันต์กระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว จึงพากันไปสู่ภูกำพร้า  ปฏิสัณฐารซึ่งกันและกัน  ครั้นรุ่งแจ้งมา มหารัตนเถระพี่น้องจึงเข้าไปบิณฑบาตใน

  • เชิงอรรถ –

เมืองอินทปัฐนคร โปรดพระยาอาว์ที่เป็นจุลบิดาของเธอทั้ง ๒

       ส่วนมหาสุวรรณปาสาทพี่น้องนั้น ไปบิณฑบาตในเมืองที่ตนเกิด เพื่อโปรดพระยาปุตตจุลณีพรหมฑัตและนางปัจฉิมเทวี ที่พระบิดาและพระมารดา เพื่อจะให้มาช่วยฐปนาพระอุรังคธาตุกับด้วยพระยาสุมิตตธรรม  ส่วนพระสังขวิชเถระเข้ามาบิณฑบาตในเขตพระราชฐานพระยาสุมิตตธรรมมรุกขนคร  พระยาและนางเทวีแก้วทอดพระเนตรเห็นพระสังขวิชเถระห่มผ้ามีสีประดุจดังสีดอกคำที่พญานาคถวายนั้น  ทรงพระปีติเลื่อมใสซาบซึ้งไปในพระขันธสันดาน  ประดุจดังลูกราชสีห์ที่พลัดจากพ่อแม่มานานแล้วจึงได้มาพบกันเข้า และมีความกระสันด้วยกันฉันนั้น

       พระยาสุมิตตธรรมพร้อมด้วยพระราชเทวี บ่มิอาจทรงพระองค์อยู่ได้  มีพระทัยหวั่นไหวเหมือนดังช่อธงที่กวัดแกว่งด้วยลมฉะนั้น  จึงได้เสด็จลงมาจากปราสาท อุ้มพระมหาเถระขึ้นไปสถิตในปรางคปราสารท แล้วถวายภัตตาหารอันประณีต แล้วพระองค์พร้อมด้วยพระราชเทวีจึงตรัสถามพระมหาเถระว่า  เจ้ากูมีอินทรีย์อันหมดจดสะอาดแล้ว และเป็นที่เจริญตาเจริญใจของโยมยิ่งนัก  เจ้ากูลุกแต่ที่ใดมาโปรดโยมเล่า

       ขณะนั้น มหาสังขวิชเถระจึงทูลว่า  อาตมาลุกแต่เมืองร้อยเอ็ดประตูโพ้น มาเที่ยวแสวงหาบิดามารดา  พระยาสุมิตตธรรมพร้อมด้วยพระราชเทวีจึงตรัสว่า  บิดามารดาเจ้ากูอยู่ ณ ที่ใดเล่า  พระ

  • เชิงอรรถ –

มหาเถรจึงทูลตอบว่า  บิดามารดาของอาตมาอยู่เมืองศรีโคตรบองนี้และทูลซ้ำต่อไปอีกว่า  บิดามารดาของอาตมาภาพหนีจากเมืองศรีโคตรบองไปมีภรรยาอยู่ที่เมืองร้อยเอ็จประตู  เมื่ออาตมาภาพคลอดออกมา ท่านทั้ง ๒ ได้ละทิ้งอาตมาภาพเสีย หนีมาอยู่ที่เมืองนี้

       ขณะนั้น พระยาสุมิตตธรรมและพระราชเทวีไม่ทรงทราบในถ้อยคำนั้นๆ  ทรงนึกหัวเราะอยู่แต่ในพระทัยว่า มหาเถรหลงพ่อแม่ เธอประกอบไปด้วยความทุกข์  ทันใดนั้นมหาเถระเจ้าจึงทูลถามว่า  มหาราชทั้ง ๒ เสด็จจากที่ใดมาประทับอยู่ที่นี้  พระราชาจึงไหว้ว่า โยมทั้ง ๒ มิได้จากที่ใดมา โยมหากเกิดแต่ตระกูลวงศาในที่นี้เอง  มหาเถระเจ้าจึงทูลว่า  อาตมภาพมิได้ทูลถามหาเชื้อพระวงศ์ อาตมภาพทูลถามถึงชาติก่อนนั้น  พระยาและพระราชเทวีจึงตรัสว่า เจ้ากูเป็นอรหันต์มิใช่หรือ  มหาเถระถวายพระพรว่าถูกแล้ว

       ในขณะนั้น อัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น  เทพดาที่อยู่รักษาภูมิฉัตรของพระองค์และเทวดาที่รักษาภูกำพร้าทั้งสิ้น จึงพร้อมกันเป่ายังหอยสังข์ขึ้นประโคมทั่วในพระราชฐานและในที่นั้นๆเป็นที่สนุกสนานยิ่งนัก  คนทั้งหลายได้ยินแต่เสียงสังข์ หาได้เห็นเทวดาไม่ จึงพร้อมกันให้เสียงสาธุการเซ็งแซ่ทั่วไปทั้งพระนคร

       แล้วเจ้าสังขวิชเถระจึงถวายพระธรรมเทศนาแด่พระยาสุมิตตธรรมและพระราชเทวีว่า  ดูรามหาราช  อาตมานี้มาแต่เมืองพระยาจันทบุรีเพื่อโปรดมหาบพิตรทั้ง ๒ พระองค์  เมื่อชาติก่อนโพ้น

  • เชิงอรรถ –

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น