วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

ตำนานอุรังคธาตุ ๑๘


ตำนานอุรังคธาตุ ๑๘

ประณม พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบุณฑริก รูปนางสุนันทา พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประณม พระหัตถ์ขวาถือดอกนิลบล รูปนางสุธรรมา พระหัตถ์ขวายกขึ้นประณม พระหัตถ์ซ้ายถือดอกจงกลณี รูปนางโรหิณี พระหัตถ์ขวาถือพานทองคำ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประณม รูปนางสารวัตติเกสี นางปติบุปผา และนางคันธาลวดี พระหัตถ์ขวาถือพานทองคำ หัตถ์ซ้ายยกขึ้นประณม รูปทั้งหลายเหล่านี้ ควัดไว้ด้านตะวันออกทั้งสิ้น

แล้วจึงควัดรูปวิสสุกรรมเทวบุตรพระหัตถ์ขวายกขึ้นประณม พระหัตถ์ซ้ายถือมีดสำหรับควัด รูปธรรมกถิกเทวบุตรนั้น พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประณม พระหัตถ์ขวาถือขวดน้ำมัน รูปสีสุนันนทเทวบุตรและรูปสีมหามายาเทวบุตรทั้ง ๒ นี้ ยกพระหัตถ์ขึ้นประณมเหมือนกัน ควัดไว้ด้านใต้

แล้วจึงควัดรูปพระยาทั้ง ๖ ทรงจูงพระหัตถ์นั้น เป็นต้นว่า พระยาสุวรรณภิงคารทรงจูงพระหัตถ์พระยาคำแดง รูปพระยาจุลณีพรหมทัตทรงจูงพระหัตถ์พระยาอินทปัฐนคร รูปพระยาคิโคตรบูรทรงจูงพระหัตถ์พระยานันทเสน ผินพระพักตรไปทิศตะวันตก จึงควัดรูปนางศรีรัตนเทวีเสด็จออกหน้าผินพระพักตรคืนหลัง แล้วควัดรูปพระยาติโคตรบูรทรงดำเนินตามหลังนางผินพระพักตรสู่ทิศตะวันตก

ส่วนรูปพระมหากัสสปเถระเจ้านั้น มือซ้ายถือไม้เท้า มือขวา

  • เชิงอรรถ –

แบไว้ รูปพระอรหันต์ทั้ง ๕ นั้นสะพายบาตร ยกมือทั้ง ๒ ขึ้นประณม รูปทั้งหลายเหล่านี้ ควัดไว้เบื้องบนรูปพระยาทั้ง ๖ มีพระยาสุวรรณภิงคารเป็นต้น อยู่ทิศตะวันตกด้านเหนือ

รูปอินทจิตตเทวบุตร ปัญจสิกขเทวบุตร อังกุรเทวบุตร สุปิยเทวบุตร และมาตลิเทวบุตร แล้วจึงควัดรูปเทวบุตรทั้งหลาย ถือเครื่องอุปัฏฐาก มีรูป บุปผเทวบุตร อัคคิหุตเทวบุตร และเทวบุตรที่มีนามปรากฏตามตระกูลวงศาทั้งสิ้น จึงได้ควัดเป็นดาวขั้นไว้ แล้วจึงควัดรูปท้าวจตุโลกบาล รูปสุริยจันทเทวบุตร และรูปนางเทวดาทั้งหลาย ยกพระหัตถ์ขึ้นประณมตามกันโดยลำดับ วิสสุกรรมเทวบุตรลงมาสู่ภูกำพร้า ควัดรูปลวดลายนั้นๆไว้ที่อุโมงค์พระอุรังคธาตุ ครั้งนั้น เดือน ๑๒ เพ็ญวันอังคาร ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันไปจนถึงเวลาเที่ยงคืน จึงเสร็จบริบูรณ์

ครั้งนั้น จตุรังคเทวบุตร เป่าสังข์นำหน้าพระยาอินทร์ เสด็จจากชั้นดาวดึงส์ ลงสู่ริมแม่น้ำธนนันทีทิศตะวันตก วิสสุกรรมเทวบุตรจึงเข้าไปรับเอาดอกมะลิทองคำร่วง พระยาอินทร์พร้อมด้วยนางทั้งหลายเสด็จเข้าไปแทบใกล้อุโมงค์พระอุรังคธาตุ แล้วคุกเข่าลงเหนืออาศนะทิพย์ สักการคารวะพร้อมๆกัน เทวบุตร เทวดาทั้งหลาย ก็กระทำฉันเดียวกัน แล้วก็เสด็จออกไปประทับอยู่ในที่ควร เทวดาทั้งหลายจึงได้นำเครื่องสักการเข้าไปถวายโดยลำดับ จึงตรัสสั่งให้ อัคคิหุตเทวบุตร และบุฟผาเทวบุตร รับเอาเครื่องสักการนั้นไปตั้ง

  • เชิงอรรถ –

เรียงรายสักการบูชาไว้ ๔ ด้าน

วิสสุกรรมเทวบุตร จึงเข้าไปในอุโมงค์ เปิดพระอุรังคธาตุไว้ พระยาอินทร์เสด็จเข้าไปในอุโมงค์พร้อมด้วยนางทั้งหลาย ประทับในที่อันสมควร เทวบุตรที่เชิญเครื่องอุปัฏฐากก็ตามเสด็จเข้าไปด้วย จตุรงคเทวบุตรทั้ง ๔ ถือดาบหมอบอยู่ข้างหลัง จตุรงคเทวบุตรทั้ง ๔ ที่ถือขรรค์ไชยศรีนั้นอยู่รักษาประตูตนละด้าน อินทจิตตเทวบุตรถือแส้แก้วเดินไปมา คอยตรวจตราดูแลตักเตือนเทวบุตรทั้งหลายอยู่ทุกด้าน นรคันธรรพทั้งหลายประโคมด้วยเครื่องประโคม ปัญจสิกขเทวบุตร ดีดพิณทองคำ

ขณะนั้น พระยาอินทร์เสด็จทอดพระเนตรรูปและลวดลายทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นรูปของพระองค์และรูปนางทั้งหลาย ทรงยิ้ม นางทั้งหลายก็ยิ้มด้วย เทวดาทั้งหลายที่เชิญเครื่องสักการจึงนำเครื่องสักการนั้นๆเข้าไปตั้ง มี พานหมาก น้ำเต้า และอูบเมี่ยง ตั้งเรียงไว้โดยลำดับ พระยาอินทร์ทรงจบ ๗ ครั้ง แล้วทรงรับเอาเทียนจากนางคันธาลวดีและนางโรหิณีจุดบูชา แล้วทรงรับเอาธูปจากนางสารวัตติเกสีขึ้นจบแล้วตั้งบูชาไว้ ทรงรับเอาพานดอกไม้จากนางปติบุปผาขึ้นจบแล้วตั้งสักการบูชาไว้ตลอด ๕๐๐๐ พระวรรษา แล้วพระองค์ทรงรับเอาขวดไม้จันทน์จากนางคันธาลวดี โสรจสรงพระอุรังคธาตุเสร็จแล้วรับสั่งให้ปิดไว้ดังเก่า แล้วเสด็จออกมาภายนอก ทรงรับขันน้ำอบน้ำหอมจากนางสุปิยเทวบุตร โสรจสรงอุโมงค์ภายนอก

  • เชิงอรรถ –

จึงทรงรับเอาข่ายดอกมะลิเทศมาจากมาตลิเทวบุตร ปกคลุมอุโมงค์พระอุรังคธาตุเสร็จแล้วทรงจบ ๗ ครั้ง นางทั้งหลายก็กระทำตามโดยลำดับ จึงรับสั่งให้นางสุธรรมาเรียงรายดอกจงกลณี ๑๕๐ ดอก บูชาไว้ตามมุมอุโมงค์ให้เท่ากันทุกๆมุม

อธิบายความว่า ดอกจงกลณีทิพย์นั้น เมื่อนางนำไปบูชาไว้ตามมุม ยังเหลืออยู่ในพระหัตถ์นางเท่าใด ก็บังเกิดขึ้นมาอีกเท่านั้นไม่รู้สิ้น เมื่อว่านำไปเรียงรายบูชาถูกต้องแต่ที่แรกแล้ว ดอกจงกลณีนั้นก็จะหมดจากพระหัตถ์ในครั้งสุดท้าย เมื่อนำไปเรียงรายบูชาไว้ไม่ถูก ดอกจงกลณีนั้นก็เกิดมีอยู่ในพระหัตถ์ไม่รู้สิ้น ลางทีดอกจงกลณีนั้นก็จะไม่พอเรียงรายบูชาไว้ตามมุมนั้นๆเสียซ้ำอีก นางสุธรรมานำเอาดอกจงกลณีไปเรียงรายอยู่ถึง ๓ ครั้งไม่ถูกต้อง นำเอากลับคืนมาไว้ก็ยังเท่าเก่าอยู่

พระยาอินทร์จึงได้เสด็จไปเรียงรายดอกมะลิทองคำร่วง ๑๕ ดอก เอาบูชาไว้มุมแรก ๘ ดอก ยังเหลืออยู่กับพระอรหันต์ ๗ ดอก ก็บังเกิดขึ้นมาเป็น ๑๔ ดอก แล้วเอาบูชาไว้ที่มุมถ้วนสอง ๘ ดอก ยังเหลืออยู่ที่พระหัตถ์อีก ๖ ดอก เกิดมาเพิ่มอีกเป็น ๑๒ ดอก แล้วเอาบูชาไว้ที่มุมถ้วนสาม ๘ ดอก ยังเหลืออยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ ๔ ดอก แล้วบังเกิดขึ้นเพิ่มอีกเป็น ๘ ดอก แล้วเอาบูชาไว้ที่มุมถ้วนสี่นั้นทั้ง ๘ ดอก พอดีหมด ก็ไป่บังเกิดขึ้นมาอีก ดอกมะลิทองคำร่วง ๑๕ ดอก ทั้งเก่าใหม่

  • เชิงอรรถ –

รวมเป็น ๓๒ ดอก

นางสุชาดา นางสุจิตรา และนางสุนันทา ได้อุบายจากพระยาอินทร์แล้ว จึงได้นำเอา ดอกบัวทองคำ ดอกบุณฑริก และดอกนิลบล ไปบูชาไว้ตามมุมโดยลำดับ ถูกต้องตามอย่างพระยาอินทร์ทรงกระทำนั้นทั้ง ๓ นาง ส่วนนางสุธรรมานั้น จึงได้นำเอาดอกจงกลณีออกไปบูชาไว้ตามมุมด้วยอุบายทั้ง ๑๕๐ ดอก เอาบูชาไว้ที่มุมแรก ๘๐ ดอก ยังคงเหลืออยู่ในพระหัตถ์ ๗๐ ดอก เกิดขึ้นมาครบเป็น ๑๔๐ ดอก แล้วเอาบูชามุมละถ้วนสอง ๘๐ ดอก ยังเหลืออยู่ในพระหัตถ์อีก ๖๐ ดอก ซ้ำเกิดมาเพิ่มอีกรวมเป็น ๑๒๐ ดอก แล้วเอาบูชาไว้ในมุมถ้วนสาม ๘๐ ดอก ยังเหลืออยู่อีก ๔๐ ดอก แล้วเกิดขึ้นมาอีก ๔๐ ดอก รวมเป็น ๘๐ ดอก แล้วจึงเอามาบูชาไว้ที่มุมถ้วนสี่นั้นทั้ง ๘๐ ดอก ครบถ้วนพอดี

พระยาอินทร์ทรงเห็นว่ากระทำถูกต้องจึงตรัสว่า “โยคา ภูริลงฺขโย” ดูกร นางทั้งหลาย เทวบุตร เทวดา และคนทั้งหลายก็ดี มีความเพียร สติปัญญาก็บังเกิดขึ้นมาตามกัน เมื่อว่ามีความเกียจคร้าน สติปัญญาก็ย่อมหดหู่สิ้นไป บัดนี้ นางสุธรรมากระทำความเพียร รำพึงดูแต่ก่อนได้นำดอกจงกลณีออกไปบูชาไว้ตามมุมถึง ๓ ครั้งไม่ถูกต้อง จึงได้มาคิดกระทำความเพียรต่อภายหลังอีก นางสุธรรมาทรงยิ้มแล้วยกพระหัตถ์ขึ้นประณม

พระยาอินทร์ทอดพระเนตรรูปและลวดลายทุกด้าน ทรงระลึกถึง

  • เชิงอรรถ –

ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่ภูกำพร้า จึงตรัสสั่งให้วิสสุกรรมเทวบุตร ควัดรูปและลวดลายพระพุทธเจ้า ประทับยืยอยู่ใต้ต้นรัง ไว้เบื้องบนทิศตะวันตก เสมอรูปพระมหากัสสปเถระเจ้า แล้วให้ควัดรูปพระยาติโคตรบูร ยกบาตรโน้มพระเศียรลงถวายแด่พระศาสดา แล้วให้ควัดรูปภูกำพร้าและรูปพระศาสดา ประทับฉันข้าวในบาตร แล้วจึงควัดรูปพระอานนทเถระกำลังฉันข้าว และรูปของพระองค์เอง พระหัตถ์ขวายกน้ำเต้าถวาย พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประณมไว้เหนือรูปภูกำพร้านั้น

เมื่อควัดสำเร็จแล้ว วิสสุกรรมเทวบุตรจึงเข้าไปกราบทูลพระยาอินทร์ว่า พระองค์ทรงรับสั่งให้ข้าพเจ้าควัดรูปทั้งหลายเหล่านี้ด้วยเหตุใดจา พระยาอินทร์จึงตรัสว่า ดูกร วิสสุกรรมเทวบุตร เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับในที่นั้นราตรีหนึ่ง พระศาสดาทรงฉันข้าวที่นั้น เราได้อุปัฏฐาก แม้ว่าตัวท่านก็ได้ลงมาถวายอาศนะและเพดานครั้งนั้นเหมือนกัน วิสสุกรรมเทวบุตรยิ้มแล้วทูลว่าถูกแล้ว พระองค์ทรงเมตตาแก่ข้าพเจ้า แต่ทว่าข้าพเจ้าไม่เห็นพระองค์ พระยาอินทร์จึงตรัสว่า ท่านลงมาเมื่อตอนหัวค่ำ ครั้นรุ่งแล้วท่านก็กลับไปเสีย และในวันรุ่งเช้านั้น เราได้ลงมาอุปัฏฐากพระศาสดาด้วยไม้สีฟันและน้ำ ตลอดถึงพระศาสดาเสด็จไปบิณฑบาต แล้วกลับมาฉัน พระองค์ฉันเสร็จแล้วเราจึงได้กลับ วิสสุกรรมเทวบุตรจึงทูลว่า สาธุ สาธุ

  • เชิงอรรถ –

พระยาอินทร์จึงตรัสว่า ดูกร วิสสุกรรมเทวบุตร พระยาติโคตรบูรนี้ เป็นเชื้อโคตรวงศาพระโคดมเรานี้ แต่ในกาลเมื่อก่อนพระองค์ทรงคำนึงแต่ในพระทัย ใคร่เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ปรารถนาค้ำชูพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงทราบว่าหาอันตรายมิได้ จึงฉะเพาะซึ่งพระยาเพื่อฐปนาพระอุรังคธาตุเมื่อสิ้นสุด เพื่อเหตุนั้นแล

ถึงแม้ว่าพระยาได้ให้ทานรักษาศีล ก็ไป่ได้ไปเกิดในเมืองฟ้า พระองค์ยังจะได้ท่องเที่ยวค้ำชูพระพุทธศาสนาในเมืองทั่วๆไปในชมพูทวีปตลอด ๕๐๐๐ พระวรรษา เมืองที่พระองค์เสวยราชสมบัติอยู่ก่อนนั้นอยู่ริมแม่น้ำเซ เราทั้งหลายเรียกว่า “เมืองศรีโคตโม” เหตุเพราะพระโคตมะให้คำวุฒิสวัสดีแด่พระยาติโคตรบูร และบัดนี้คนทั้งหลายชาวเมืองหลุ่มเรียกว่าเมืองศรีโคตรบอง ด้วยเหตุว่าผู้เป็นใหญ่นั้นเป็นเชื้อโคตรและมิตรสหายกันกับเมืองสุวรรณภูมิ จึงควรกินและมีสมบัติมากนัก เราผู้เป็นอินทร์เห็นแจ้งดังกล่าวแล้ว จึงได้ให้ท่านวิสสุกรรมเทวบุตรควัดลวดลายและรูปทั้งนี้ให้เป็นมงคลค้ำชูพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้แล

บัดนี้ พระยาติโคตรบูรพระองค์มาเกิดในเมืองสาเกตนครนั้น ถึงแม้ว่าพระองค์ได้ไปเกิดในที่ใดๆก็ดี ท่านผู้เป็นวิสสุกรรมเทวบุตรจงตามรักษาพระองค์ให้ได้รับความสวัสดีจงทุกประการเทอญ พระยาอินทร์ทรงปฏิสัณฐานดังนี้ วิสสุกรรมเทวบุตรจึงได้จดจำเอาไว้

  • เชิงอรรถ –

แล้วจึงทันยังเทวดาทั้งหลายที่อยู่ภูกำพร้าทั้งสิ้น ให้มากดเอาเครื่องอุปัฏฐากบูชาไว้ พร้อมทั้งข้าวของเงินทองและเครื่องอุปโภคที่พระยาทั้ง ๕ บูชารองไว้เบื้องล่างนั้น กำหนดซึ่งกันและกันรักษาไว้ให้เป็นปกติ

และยังมีเทวดาตนหนึ่งชื่อว่า วนปคุมพ มีบริวาร ๑,๐๐๐ รักษาอยู่ด้านเหนือ เทวดาตนหนึ่งชื่อว่า ภุมปติรุกขา มีบริวาร ๕๐๐ รักษาอยู่ด้านใต้ เทวดาตนหนึ่งชื่อว่า สรุธกา มีบริวาร ๕๐๐ รักษาอยู่ด้านตะวันออก เทวดาตนหนึ่งชื่อว่าโพธิรุกขปัตตะ มีบริวาร ๕๐๐ รักษาอยู่ด้านตะวันตก เทวดาทั้งหลายเหล่านี้ ให้รักษาเครื่องที่พระยาอินทร์ตกแต่งไว้สักการบูชาทั้งสิ้น

เทวดาตนหนึ่ง ชื่อ สุนทิรณี มีบริวาร ๕๐๐ อนู่ในพื้นภูกำพร้าทั้งสิ้น เป็นผู้รักษาข้าวของเงินทองที่พระยาทั้ง ๕ บูชาไว้เบื้องล่างนั้น เทวดาตนหนึ่งชื่อว่า วิจิตตเลขา มีบริวาร ๑,๐๐๐ อยู่วิมานอากาศ ให้ถือเส้นจัดเตือน เทวดาทั้งหลายเหล่านี้มีอายุยืนตลอดกัลป์ทุกตน

พระยาอินทร์จึงตรัสสั่งให้วิสสุกรรมเทวบุตรกำหนดไว้ดังนี้แล้วจึงเสด็จออกจากอุโมงค์เวียนวัฏปทักษิณ ๓ รอบ สถิตอยู่ในที่อันสมควร

ครั้งนั้น พระอุรังคธาตุเสด็จออกกระทำปาฏิหาริย์ แต่ละด้านเสด็จออกมาถึง ๖ องค์ วกเวียนเสด็จขึ้นมารวมอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ตั้งอยู่บนอากาศเสมอยอดอุโมงค์ระยะ ๑๐๐ วา แล้วเสด็จออก

  • เชิงอรรถ –

จากยอดอุโมงค์ ๒ องค์ เสด็จขึ้นไปเบื้องบน แล้วเสด็จลงมารวมเข้ากันเป็นองค์เดียวโตเท่าลูกมะพร้าว แล้วปทักษิณไปทางขวา ๓ รอบ ประดิษฐานอยู่ที่ประตูทิศตะวันออก ฉะเพาะพระพักตร์พระยาอินทร์ เทวบุตรเทวดาทั้งหลายมีความชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงให้เสียงสาธุการขึ้นอึงมี่ตลอดไปทั่วบริเวณ นรคนธรรพทั้งหลายประโคมด้วยเครื่องดุริยดนตรี

วัสสวลาหกเทวบุตรพาบริวารนำเอาหางนกยูงเข้าไปฟ้อนถวายบูชา เทวดาทั้งหลายลางหมู่ขับ ลางหมู่ดีดสีตีเป่าถวายบูชา นางเทวดาทั้งหลายถือหางนกยูงฟ้อนและขับร้องถวายบูชา ปัญจสิกขเทวบุตรดีดพิณทองคำถวายบูชา อุรังคเทวบุตรปรบมือถวายบูชา พระอุรังคธาตุเสด็จเข้าไปประดิษฐานในอุโมงค์ทางประตูด้านตะวันออก ประตูก็ปิดเข้าไปพร้อมกัน มีเสียงดังยิ่งนัก เทวบุตรเทวดาทั้งหลายสะดุ้งตกใจ ถึงกับหยุดการประโคม

ครั้งนั้น เทวดา นาค ครุธ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ ยักษ์ ทั้งหลายที่อยู่ขอบจักรวาฬ ได้ยินเสียงพิณทองคำที่ปัญจสิกขเทวบุตรดีด จึงพร้อมกันมา ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืน พระยาอินทร์พร้อมด้วยเทวบุตรเทวดาทั้งหลาย เวียนวัฏปทักษิณสิ้นวาร ๓ รอบ จึงกระทำสักการคารวะ แล้วจึงเสด็จออกไปสู่ริมน้ำธนนัทที ขึ้นสู่ปราสาท ๓,๓๓๗ ยอด วิจิตรแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ตั้งอยู่ที่ท่ามกลางราชรถเป็นชั้นเชิงลดเลี้ยวเข้าไประโหฐารยิ่งนัก บุคคลเข้าไปในที่นั้น

  • เชิงอรรถ –

เกือบหลง

นางสุชาดา นางสุจิตรา นั่งอยู่ฝ่ายขวาโดยลำดับ นางสุนันทา นางสุธรรมา นั่งอยู่ฝ่ายซ้ายโดยลำดับ นางโรหิณี นางสารวัตติเกสี นางปติบุปผา และนางคันธาลวดี ทั้ง ๔ นี้ นั่งอยู่ฝ่ายหลังโดยลำดับ อินทจิตตเทวบุตร วิสสุกรรมเทวบุตร และธรรมกถิกเทวบุตร นั่งอยู่ฉะเพาะพระพักตรพระยาอินทร์โดยลำดับ

ถัดนั้น เทวบุตรที่มีนามปรากฏฝ่ายขวา มีปัญจสิกขเทวบุตร เป็นต้น ฝ่ายซ้ายมี อุรังคเทวบุตร เป็นต้น นั่งอยู่โดยลำดับ

ถัดนั้น จตุรังคาวุธเทวบุตร ถือขรรค์ไชยศรีออกดูแลรักษาอยู่ชั้นหนึ่งตลอดไปทั้ง ๔ ด้าน จตุรังคาวุทธเทวบุตรถือดาบออกดูแลรักษาอยู่ชั้นหนึ่งตลอดไปทั้ง ๔ ด้าน เทวดาทั้งหลายอยู่ด้านละ ๑,๐๐๐ ตน ทุกๆชั้น นางเทวดาทั้งหลายอยู่ด้านละ ๑,๐๐๐ นาง ทุกๆชั้น มาตลิเทวบุตรถือสายขนัน๑ม้าอาชาไนยพลาหก อนุมาเทวบุตรถือประคือไชย ๙,๐๐๐ หาง นังคสารถีอยู่ท้ายราชรถถือประคือไชยทองคำ ๗ หาง กวัดแกว่ง

เทวบุตร เทวดา ทั้งหลายนอกนั้นเดิน ๒ ข้างราชรถ สีสุนันทเทวบุตร สีมหามายาเทวบุตร และวิสาขาเทวบุตร พาบริวารของตนๆหมอบอยู่ข้างหลัง สุริยจันทเทวบุตรพาบริวารอยู่ฝ่ายซ้าย ท้าว

  • เชิงอรรถ ๑ บังเหียน

จตุโลกพาบริวารเดินตามราชรถพระยาอินทร์ฝ่ายขวา เมื่อเสด็จกลับถึงชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็เสด็จลงไปเวียนวัฏปทักษิณพระจุฬามณีเจดีย์ แล้วจึงเสด็จไปสู่ที่ประทับและที่อยู่ของตนๆ

ในกาลนั้น เทวดา นาค ครุธ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ ยักษ์ ทั้งหลายที่อยู่ขอบจักรวาลมาถึงภูกำพร้า ก็พากันปฏิสัณฐารกับด้วยเทวดาทั้งหลายที่เป็นใหญ่อยู่ในสถานที่นั้น จึงพร้อมกันมีการมหรสพสมโภชสักการบูชา เทวดาทั้งหลาย ลางพวกตีฆ้อง ลางพวกตีฉิ่ง ลางพวกตีกลอง ลางพวกตีกังสดาล ลางพวกเป่าสังข์ ลางพวกเปล่าลีลา ลางพวกเป่าเพง ลางพวกดีด ลางพวกสี

นาคทั้งหลาย ลางพวกขับ ลางพวกฟ้อน ครุธทั้งหลาย ลางพวกปรบปีกบินเวียนไปทางขวา ๓ รอบ แล้วจึงกระทำสักการะ ส่วนคนธรรพและยักษ์ทั้งหลายนั้น ตีดุริยดนตรี ลางพวกเต้นไต่ละเม็ง ลางพวกบินกระโดด ลางพวกบูชาตะไลไฟดอก ลางพวกจุดธูปบูชา ลางพวกจุดเทียนบูชา รุ่งเรืองตลอดไปในบริเวณพระอุรังคธาตุ แล้วเขาทั้งหลายเหล่านั้น จึงได้ลาพรากจากกันไปที่อยู่แห่งตนๆ ก็มีในวันนั้นแล

กล่าวอัน พระยาอินทร์ และ เทวดา กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค ครุธ เสด็จมาและกระทำสักการบูชาพระอุรังคธาตุ ก็สิ้นข้อความลงแต่เท่านี้


รายละเอียดหนังสือ


ปกหน้า


อุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม)

ที่ระลึก ในงานพระนาชทานเพลิงศพ อ.ต.หลวงประชุมบรรณสาร(พิณ เดชะคุปต์) วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๓ ณ สุสานวัดมกุฎกษัตริยาราม


ข้อมูลท้ายเรื่อง


หนังสือฉะบับนี้ อาชญาเจ้าพระอุปราช พร้อมด้วยบุตรภรรยา สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ตรงกับ จุลศักราช ๑๒๒๓ (พ.ศ.๒๔๐๔) ปีจอ จัตวาศก เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันพฤหัสบดี


พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยเขษม หน้าวัดราชบพิธ ถนนเฟื่องนคร พระนคร นายบำรุงราชบทมาลย์ ผู้พิมพ์โฆษณา ๒๔๘๓




คำชี้แจง


เรียน ท่านผู้อ่านและผู้บริโภคข้อมูลทั้งหลาย เพื่อโปรดทราบ

ตำนานอุรังคธาตุ ที่นำมาเสนอทางหน้าเว็บไซด์นี้ Khongriverso.com ได้รับคำชี้แจงจากผู้พิมพ์ว่า ได้ตั้งใจพิมพ์ด้วยตนเองสะสมวันละเล็กละน้อย ด้วยจิตศรัทธาเป็นที่ตั้ง เพื่อเผยแพร่ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง มิได้เป็นผู้รอบรู้ที่มีคุณวุฒิอันเป็นมาตรฐานในด้านประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์แต่อย่างใด จึงพยายามคัดลอกเนื้อความให้ตรงกับฉบับเดิมให้มากที่สุดโดยมิได้แก้ไข

บางข้อความนั้น เป็นภาษาเดิมซึ่งมีความถูกต้องตามยุคสมัยในอดีต แต่ต่างจากปัจจุบัน

บางข้อความนั้น เป็นภาษาเดิมซึ่งดูว่าผิด แต่ภายหลังกลับพบว่าเป็นภาษาเดิมซึ่งยังใช้พูดกันในบางกลุ่มชนในท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง

บางข้อความนั้น ดูแล้วว่าสะกดผิดซึ่งอาจจะเกิดจากกระบวนการพิมพ์และพิสูจน์อักษรในสมัยก่อน แต่ก็มิได้แก้ไข เพราะผู้พิมพ์เห็นว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะใช้ ดุลยพินิจ หรือ มติความเห็นอันเป็นส่วนตัว ตัดสิน หรือ นำไปสู่ข้อยุติ ได้

อย่างไรก็ตาม เนื้อความส่วนใหญ่นั้น ท่านผู้อ่านและผู้บริโภคข้อมูลทั้งหลาย น่าจะอ่านและเข้าใจได้ไม่ยาก ย่อมจะได้รับความพึงพอใจและคุณค่าในตำนานอันเป็นสมบัติส่วนรวมของโลกเล่มนี้ตามสมควร

ในกรณีของท่านที่มุ่งค้นคว้าหาข้อมูลโดยจำเพาะ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงหรือนำไปใช้อ้างอิงใดๆนั้น ควรใช้วิจารณญาณและตรวจสอบยืนยันกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง


ด้วยคารวะ

1 ความคิดเห็น: