วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

ตำนานอุรังคธาตุ ๑๔


ตำนานอุรังคธาตุ ๑๔

มหาราชได้เป็นพระยาติโคตรบูร  ครั้งเมื่อพระศาสดายังมีพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาประทับแรมที่ภูกำพร้า  พระศาสดาทรงทราบในพุทธวิสัย  ครั้นรุ่งเช้าทรงผ้ากาสาวพัตอุ้มเอายังบาตรเสด็จไปอิงต้นรังใต้เมือง เพื่อโปรดมหาราชให้ถึงสุข แล้วพระพุทธองค์จึงได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองศรีโคตรบอง  มหาราชได้ถวายบิณฑบาตแล้วทรงปรารถนาค้ำชูพระพุทธศาสนา  ฉะเพาะพระพักตรพระศาสดา  พระศาสดามิได้ทรงรับเอาซึ่งบาตรจากมหาบพิตร  เสด็จลีลาคืนสู่ประทับใต้ต้นรัง  มหาราชทรงปิติยินดี  อุ้มเอายังบาตรนำไปถวายพระศาสดาถึงต้นรัง

       ครั้งนั้นอาตมาเป็นน้องของมหาบพิตร  เมื่อพระมหาบพิตรจุติจากชาตินั้น จึงได้ไปเกิดในเมืองสาเกตนคร เป็นพระยาเสวยราชสมบัติในเมืองร้อยเอ็จประตู  ส่วนนางศรีรัตนาเทวีก็เคยได้ป็นราชเทวีมาแต่ก่อน

       ส่วนอาตมาภาพครั้งนั้นได้เป็นพระยานันทเสน เสวยราชสมบัติในเมืองศรีโคตรบองได้ ๑๓ ปี  พระศาสดาจึงได้เสด็จเข้าสู่นิพพาน แล้วพระอรหันต์ ๕๐๐ ได้พร้อมกันก่ออุโมงค์ที่ภูกำพร้า ประดิษฐานพระบรมธาตุหัวอกของพระศาสดา  ครั้งนั้น พระยาทั้ง ๔ พร้อมด้วยตัวอาตมา ได้ปรารถนาให้ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา  เมื่ออุป

  • เชิงอรรถ –

สมบทแล้ว ขอให้ได้สำเร็จพระอรหันต์ เฉพาะหน้าพระอรหันต์ ๕๐๐ มีพระมหากัสสปเถระเจ้าเป็นประธาน  พระอรหันต์ทั้งหลายพร้อมกันอนุโมทนาในความปรารถนาทุกองค์  อาตมาภาพจึงได้มาบวชและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติอันนี้  เมื่ออาตมาจุติจากชาติอันเป็นพระยานันทเสน  ได้ไปเกิดในท้องแห่งนางศรีรัตนเทวี พระราชเทวีพระยาร้อยเอ็จประตู ก็คือ มหาราชเจ้ากับทั้งพระนางเทวีแก้วบัดนี้แล

       ครั้งนั้น เสนาอำมาตย์ทั้งหลายพร้อมใจกันอพยพหนีจากเมืองศรีโคตรบอง มาสร้างเมืองอยู่ที่ป่าไม้รวก แล้วจึงพร้อมกันราชาภิเษกโอรสแห่งนางเทวบุปผาขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระยามรุกขนคร  เมื่อนางศรีรัตนเทวีประสูติอาตมาภาพออกมาได้ ๗ วัน  นางก็จุติมาเกิดในวงศ์พระยามรุกขนคร แล้วพระยามรุกขนครขอเอานางมาเป็นพระราชธิดา  เมื่อมหาราชเจ้าจุติจึงได้มาบังเกิดเป็นพระราชโอรสพระยามรุกขนคร

       แต่ชาติก่อนนั้น มหาราชเจ้าและนางเทวีแก้วเป็นพระบิดาและพระมารดาของอาตมาแท้จริง  ด้วยเหตุนี้ อาตมาภาพจึงได้รับคำเรียกมหาราชเจ้าทั้ง ๒ ว่า เป็นพระบิดาและพระมารดาหลงมาอยู่ในที่นี้ทั้ง ๒ พระองค์  เมื่อได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาอดีตชาติจากมหาเถระวันนั้น  มีพระทัยประดุจดังว่าระลึกได้ยังพระชาติหนหลัง  มีน้ำพระเนตรตกลงมาฉะเพาะหน้ามหาเถระ

       ขณะนั้น อำมาตย์และข้าทาษบริวารในหัตถาศ ได้เห็นยังน้ำ

  • เชิงอรรถ –

พระเนตรมหาราชทั้ง ๒ หยดย้อยตกลงมามิได้ขาด ก็บังเกิดโทมนัสร่ำร้องไห้ไปตามๆกัน  มีเสียงอันมี่นันทั่วท้องพระโรงหลวง  ทันใดนั้น นางเทวีแก้วจึงไหว้พระมหาเถระเจ้าว่า  เมื่อโยมจุติทิ้งเจ้ากูเสียแต่เมื่อยังเยาว์อยู่นั้น ใครผู้ใดเป็นผู้อุปถัมภ์เจ้ากูนั้นเล่า  มหาเถระเจ้าจึงทูลว่า น้าเลี้ยงพ่อนมพร้อมทั้งนางที่เป็นบาทบริจาพระยาร้อยเอ็จประตูได้เอามาเลี้ยงไว้

       เมื่อบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ ครั้งนั้นนางทั้งหลายเหล่านั้นลางคนก็ตาย ลางคนก็หนีกลับคืนไปสู่บ้านเมืองเดิม  น้าเลี้ยงพ่อนมจึงได้นำเอาอาตมภาพอพยพหนีมาอยู่เมืองสุวรรณภูมิแต่ยังเล็กอยู่  เจ้าสังขรักขิตเถระจึงได้นำเอาอาตมาไปบวชและสั่งสอนจนได้สำเร็จพระอรหันต์ ท่านจึงได้กลับไปสู่เมืองราชคฤห์ตามเดิน(อาจจะเป็น “เดิม”/ผู้พิมพ์)

       ขณะนั้น พระยาสุมิตตธรรมทรงระลึกถึงพระยาจันทบุรีที่ได้ทำรูปแปนและปราสาทมุงด้วยผ้าสาฎก พร้อมทั้งดอกบุณฑริกมาถวาย  ครั้งนั้น พระองค์จึงตรัสถามพระมหาเถระเจ้าว่า  พระอรหันต์มีในเมืองสุวรรณภูมินั้นกี่องค์  พระมหาเถระเจ้าทูลว่ามี ๑๐ องค์  กลับไปสู่ราชคฤห์แล้ว ๓ องค์ นิพพาน ๒ องค์  มากับด้วยอาตมานี้ ๔ องค์

       ทันใดนั้น พระอรหันต์ทั้ง ๔ มาจากเมืองอินทปัฐนครและเมืองจุลนีพรหมทัต ก็เข้ามาสู่ปรางคปราสาทกับด้วยเจ้าสังขวิชเถระนั้น จึงทูลว่า  ดูรามหาราช  มหาบพิตรทรงปรารถนาค้ำชูพระศาสนา

  • เชิงอรรถ –

ตราบเท่า ๕๐๐๐ พระวรรษา และพระยาทั้ง ๕ ที่มาก่ออุโมงค์ที่ภูกำพร้า ประดิษฐานพระอุรังคธาตุพระพุทธเจ้าครั้งนั้น ก็คือสังขวิชเถระ โอรสของมหาราชนี้องค์หนึ่ง  พระยาทั้ง ๔ นั้น ก็คืออาตมาภาพทั้ง ๔ ที่มาโปรดมหาราชเจ้าบัดนี้แล

       ขณะนั้น นางเทวีได้ทอดพระเนตรเห็นพระอรหันต์ทรงผ้าดอกคำที่พญานาคถวาย เข้านั่งเรียงกันโดยลำดับในปรางคปราสาทงดงามยิ่งนัก พร้อมทั้งได้ทรงสดับเสียงของพระอรหันต์มาถูกต้องโสตประสาท ก็ยิ่งเพิ่มความปีติขนพองสยองเกล้า ประดุจดังว่าจะลอยขึ้นไปบนอากาศ

       ครั้งนั้น เทวดาทั้งหลายจึงพร้อมกันเป่าสังข์ประโคมขึ้นพร้อมกันทั่วพระราชฐานเป็นครั้งที่ ๒  พระยาสุมิตตธรรมและพระราชเทวีจึงตรัสสั่งให้พ่อครัวจัดโภชนาหารเข้ามาถวายพระเถระทั้ง ๕  ครั้นสำเร็จภัตตกิจแล้ว เสียงสังข์ที่ประโคมก็เงียบไป  พระราชาจึงตรัสถามพระอรหันต์ทั้ง ๕ นั้นว่า  พระยาทั้ง ๕ ได้มาบวชสำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันบัดนี้  เจ้ากูองค์ใดที่เป็นพระยาองค์ใดแต่ก่อนเล่า  มหารัตนเถระจึงทูลว่า  อาตมานี้คือพระยาสุวรรณภิงคาร กินเมืองหนองหานหลวง  ครั้งนั้นพระศาสดาได้เสด็จไปโปรดอาตมาๆได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอฐพระศาสดาโดยแท้

       จุลรัตนเถระนี้ น้องของอาตมา คือ พระยาคำแดง ที่กินเมืองหนองหานน้อย  มหาสุวรรณปาสาทเถระนั้น คือ พระยาจุลนีพรหม

  • เชิงอรรถ –

ทัต  จุลสุวรรณปาสาทเถระองค์น้อง ก็คือพระยาอินทปัฐนคร  ส่วนเจ้าสังขวิชเถระนั้นเล่า คือ พระยานันทเสน กินเมืองศรีโคตรบองแทนมหาราช เมื่อครั้งมหาราชเป็นพระยาติโคตรบูร ได้จุติไปเกิดในเมืองสาเกตนคร  ทันใดนั้น พระยาสุมิตตธรรมพร้อมด้วยพระราชเทวีกับทั้งข้าทาษบริวาร ทรงยกและกระพุ่มแห่งมือขึ้นเหนือเศียร ให้เสียงสาธุการ  เทวดาทั้งหลายก็ให้เสียงสาธุการขึ้นพร้อมกันว่า สาธุ  สาธุ มีเสียงอันไพเราะยิ่งนัก  แล้วพระอรหันต์ทั้ง ๕ จึงนำเอาฉันทะว่า ภูกำพร้านั้นได้ชื่อว่าดอยกัปปนคิรี พระพุทธเจ้าฉะเพาะซึ่งมหาราชเพื่อจะให้ได้ฐปนาพระอุรังคธาตุ  พระยาสุมิตตธรรมทรงเลื่อมใสจึงตรัสว่าโยมจะไปก่อสร้างฐปนา  พระอรหันต์ทั้ง ๕ ก็ถวายพระพรลาไปสู่ภูกำพร้า

       ครั้งนั้น พระยาสุมิตตธรรม พระองค์ตรัสสั่งกับด้วยพลเทวอำมาตย์ผู้ฉลาดด้วยการตกแต่ง ให้เอากำลังรี้พลตามพระอรหันต์ไปและให้สร้างวิหารไว้ด้านทิศตะวันตก ๒ หลัง นอกอาณาเขตต์ชั่ว ๑๐๐ วา ให้มหารัตนเถระเจ้าอยู่องค์ละหลัง  ให้สร้างวิหารไว้ด้านใต้ ๒ หลัง ให้มหาสุวรรณปาสาทพี่น้องอยู่องค์ละหลัง และให้สร้างทางทิศด้านเหนือหลังหนึ่ง ให้เจ้าสังขวิชเถระอยู่

       พลเทวอำมาตย์จึงให้คนทั้งหลายแผ้วถางภูกำพร้าเรียบร้อยแล้ว  จึงสร้างยังราชสำนักพระยาสุมิตตธรรมไว้เสมอปากน้ำเซ และสร้างราชสำนักขึ้นอีก ๒ หลัง ไว้สำหรับพระยาปุตตจุลณีพรหมทัตและ

  • เชิงอรรถ –

พระยาจุลอินทปัฐนครก้ำใต้ปากน้ำก่ำแห่งหนึ่ง  ครั้นเสร็จแล้ว พลเทวอำมาตย์จึงกลับคืนไปคอบ๑พระยาสุมิตตธรรม  เมื่อพระองค์ทรงทราบ จึงตรัสสั่งให้จัดเครื่องสักการบูชาทุกสิ่งสรรพ์ และได้ตกแต่งเรือพระที่นั่งมงคลปราสาท ณ ท่ามกลาง  ส่วนรี้พลช้างม้านั้นให้ไปทางสถลมารคทั้งสิ้น  ส่วนพระองค์เสด็จทางชลมารค มีกระบวนเสด็จเสมอ ๒ ส่วน ไปทางสถลมารค ๓ ส่วน  ผู้ที่ไปในกระบวนให้แต่งตัวนุ่งขาวห่มขาวทั้งสิ้น

       ครั้งนั้น ประตูอุโมงค์ก็เห็นว่าปิดเสียสิ้น  เมื่อพระองค์เสด็จถึงแล้ว จึงตรัสสั่งให้ตั้งเครื่องสักการและมีการมหรสพสมโภชบูชาที่ลานอุโมงค์  พอเวลาเที่ยงคืน พระอุรังคธาตุพระพุทธเจ้าก็กระทำปาฏิหาริย์ เป็นประดุจดังเมื่อครั้งอินทราธิราชลงมาบูชา  วันนั้น ประตูอุโมงค์ก็หากเปิดออกไว้ทั้ง ๔ ด้าน  พระยาและนางเทวีแก้วพร้อมด้วยบริวารมีความอัศจรรย์ยิ่งนัก  เทวดาทั้งหลายที่อยู่รักษาในที่นั้น จึงพร้อมกันให้เสียงสาธุการและประโคมด้วยเสียงสังข์กึกก้องตลอดไปในราวป่าที่นั้น เป็นวารอันถ้วน ๓

       พระยาสุมิตตธรรม จึงตรัสสั่งแก่พลเทวอำมาตย์ ให้ไปบอกกล่าวแก่คนทั้งหลายว่า  บุคคลเหล่าใดยังพอใจในการพระราชศรัทธา เราจะให้รับราชการเป็นข้าอุปัฏฐากพระมหาธาตุ  เราจะอภัยโทษเว้นเสียจากราชการบ้านเมือง และให้ยังที่ดินไร่นาไว้แก่เขาเหล่านั้น

  • เชิงอรรถ ๑ “คอบ” บอกกล่าว,กราบทูล

       ขณะนั้น คนทั้งหลายพวกหนึ่งจึงขานขึ้นว่า  ข้าน้อยจะรับอาสาตำซะทาย  อีกพวกหนึ่งขานขึ้นว่า ข้าน้อยจะรับอาสาหาเปลือกไม้เป็นต้นว่า เปลือกกระโดนและยางบง  อีกพวกหนึ่งขานขึ้นว่า ข้าน้อยจะรับอาสาทำสวนอ้อย  อีกพวกหนึ่งขานขึ้นว่า ข้าน้อยจะรับอาสาสานตะกร้าลัเครื่องหาบเครื่องหาม   อีกพวกหนึ่งขานขึ้นว่า ข้าน้อยจะรับอาสาปั้นปางเอาคำมาพอก  อีกจำพวกหนึ่งขานขึ้นว่า ข้าน้อยจะรับอาสาขุดเอาแห่๑มาให้ถม  อีกจำพวกหนึ่งขานขึ้นว่า ข้าน้อยจะรับอาสารักษาต้นโพธิ์ห้อยบาตรและหาหนังหาปูนมาเป็นเครื่องซะทาย๒

       แล้วพลเทวอำมาตย์ กด๓เส้นเอาได้ ๓,๐๐๐ คนบริบูรณ์  ให้ล่ามรองเอาเส้นแล้วให้เป็นเจ้าเวียกจับการ๔  จึงนำเส้นเจ้าเวียกจับการเข้าไปถวายพระยาสุมิตตธรรมๆพระองค์จึงให้เอาพระเนียนเงินคำและเครื่องใช้ในการงานทั้งสิ้นให้กับพลเทวอำมาตย์ ไปพระราชทานแก่คนทั้งหลาย  พลเทวอำมาตย์รับเอาไปให้ล่ามนำไปแจกจ่ายแก่นายด้านนายกอง  เงิน ๑๐,๐๐๐ คำ ๑,๐๐๐ เสื้อผ้า  ส่วนคนทั้งหลายนอกนั้นได้รับพระราชทานเงิน ๑,๐๐๐ คำ ๑๐๐ เสื้อผ้า พร้อมทั้งเครื่องใช้ในการงาน  เป็นต้นว่า มีด พร้า จก๕ เสียม ขวานเล็ก ขวานใหญ่ สิ่ว ชี๖ ให้พร้อมสรรพ์ ควายคู่หนึ่ง เกวียน

  • เชิงอรรถ ๑ กรวด  ๒ ปูนที่ผสมน้ำเชื้อ  ๓ จดเอาชื่อ  ๔ ในที่นี้หมายความว่า ให้เสมียนจดเอารายชื่อผู้ที่เป็นหัวหน้าและตั้งให้เป็นนายด้านนายกองดูแลการงาน  ๕ “จก” จอบ  ๖ “ชี” สว่าน

เล่มหนึ่ง เรือลำหนึ่ง เสมอกันทุกๆคน และให้เขาพาเอาลูกเมียญาติพี่น้องวงศ์วานเข้ามาตั้งบ้านสร้างเมืองอยู่ในที่นั้น

       สรรพเงินทองข้าวของทั้งหลายที่จ่ายออกพระราชทานนี้เป็นเครื่องราชบรรณาการ  พระยาร้อยเอ็จพระนครนำมาถวายแด่พระองค์ปีละ ๒ ครั้ง  ด้วยกุศลบุญที่พระองค์ได้ใส่บาตรแล้วอุ้มบาตรไปถวายพระศาสดาและปรารถนาค้ำชูพระพุทธศาสนา ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นโพ้น  เมื่อแจกจ่ายพระราชทานเสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับคืนสู่พระนครพร้อมด้วยพระราชเทวีแก้ว  คนทั้งหลายจึงได้ก่อสืบต่อตั้งแต่พลานอุโมงค์ชั้นต้นนั้นขึ้นเป็นพลานชั้นถ้วน ๒ เหลือไว้

       ครั้งนั้น พระยาปุตตจุลณีพรหมทัตและพระยาจุลอินทปัฐนครพร้อมด้วยฤษีทั้ง ๒ จึงเอาอุโมงค์หินยอดภูเพ็กนั้นขึ้นไปตั้ง  พระยาสุมิตตธรรมจึงเชิญเอาพระอุรังคธาตุขึ้นไปฐปนาไว้  พลเทวอำมาตย์นำพระเต้าขึ้นไปถวาย  พระยาสุมิตตธรรมทรงรับเอาโสรจสรงพระอุรังคธาตุ  เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงได้นำเอาพระพุทธรูปเงินและธาตุพระอรหันต์

  • เชิงอรรถ –

ที่ตนได้ส่วนน้อยมาฐปนาไว้ตามมุมและริมอุโมงค์นั้น

       พระยาทั้ง ๓ ก็เสด็จขึ้นไปบนยอดด้วยพระองค์เอง  คนทั้งหลายลางพวกก็ขับร้อง ลางพวกก็ฟ้อนรำ ลางพวกก็ดีดสีตีเป่าดุริยดนตรี  เทวดาทั้งหลายประโคมด้วยเสียงสังข์และให้ฝนตกลงมา  บุคคลจำพวกใดชอบชุ่มเย็น ฝนก็ตกลงมาถูกต้องบุคคลจำพวกนั้น  บุคคลจำพวกที่ไม่ชอบ ฝนก็ไม่ตกลงมาถูกต้อง  บุคคลที่เป็นพยาธิ เป็นต้นว่า เจ็บไข้ หูหนวก ตาบอด ทูดเรื้อน  เมื่อได้เข้าไปพร้อมในการกุศลนั้นๆ พยาธินั้นๆ ก็หายสิ้น  เทวดาทั้งหลายก็โปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ทิพย์ลงมาสักการะบูชาทั่วบริเวณภูกำพร้าที่นั้น

       พระยาทั้ง ๓ มีพระยาสุมิตตธรรมเป็นประธาน  พระองค์ทรงปรารถนาให้ได้เสวยราชสมบัติทั่วทุกพระนครที่มีในชมพูทวีปทั้งสิ้น และให้ได้เป็นผู้ค้ำชูพระพุทธศาสนาตลอด ๕,๐๐๐ พระวรรษา  ครั้นจุติให้ได้ไปเสวยสุขในชั้นดุสิต ลงมาพร้อมด้วยพระอริยเมตไตรยโพธิสัตว์

       ส่วนอมรฤษีจึงปรารถนาเป็นพระพุทธบิดาในภายหน้า  พระยาปุตตจุลณีพรหมทัตและพระยาจุลอินทปัฐนครว่าได้เสด็จก่ออุโมงค์ครั้งแรกนั้นมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา มิได้ปรารถนาแม้แต่อย่างใด  พระอรหันต์ ๕๐๐ มีพระมหากัสสปเถระเจ้าเป็นประธาน ได้เห็นแจ้งแก่ตาแท้จริง

       พระยาปุตตจุลณีพรหมทัต จึงได้ปรารถนาเป็นอัครสาวกฝ่าย

  • เชิงอรรถ –

ซ้าย  พระยาจุลอินทปัฐนคร ปรารถนาเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา เมื่อพระยาสุมิตตธรรมได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  โยธิกะฤษี ปรารถนาบวชเป็นภิกษุในศาสนาและให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์วิเศษ พลเทวอำมาตย์ ปรารถนาไปเกิดในเมืองสาวัตถีสืบพระพุทธศาสนาตราบเท่าถึงเมืองสุวรรณภูมิ  ครั้นจุติจากชาตินั้นๆ ขอให้ไปบังเกิดในชั้นดุสิต ลงมาพร้อมพระอริยเมตไตรยโพธิสัตว์

       ส่วนนางเทวีแก้ว ปรารถนาเป็นเทวีแก้วของพระยาสุมิตตธรรมตราบเท่าจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพาน  นางปัจฉิมราชเทวี ปรารถนาเป็นมารดาพระยาสุมิตตธรรมทุกๆชาติตราบเท่าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  นางเทวีมารดามหารัตนเถระทั้ง ๒ ปรารถนาเป็นอัครสาวิกาองค์หนึ่ง

       ครั้งนั้น พระอรหันต์ทั้ง ๕ พร้อมกันอนุโมทนาในพระราชกุศลนั้นๆ ด้วยคำว่า  ความปรารถนาของมหาราชทั้ง ๓ ขอจงสำเร็จโดยพระราชประสงค์จงทุกประการ ขออย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากั้นกางความปรารถนาของมหาราชแม้แต่น้อยเทอญ  ถึงแม้ว่าความปรารถนาของฤษีทั้ง ๒ ก็ดี พระนางทั้ง ๓ ก็ดี พลเทวอำมาตย์ก็ดี ขอให้ได้สัมฤทธิ์ดังความปรารถนาจงทุกประการ  ด้วยอานิสงส์ผลที่เราผู้อรหันต์นี้ก็ดี จงได้ค้ำชูญาติเผ่าพงศ์วงศาที่ได้กล่าวพระนามและนามมาแล้ว จงสัมฤทธิ์ทุกประการเทอญ

       ทันใดนั้น พระยาสุมิตตธรรมพร้อมด้วยพระยาทั้ง ๒ ทรงพระ

  • เชิงอรรถ –

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น