วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

ตำนานอุรังคธาตุ ๕




ตำนานอุรังคธาตุ ๕

ลงมือก่อไปจนถึงดาวเพ็ก๑ขึ้นของคืนวันนั้นให้แล้วเสร็จ  ถ้าหากว่าฝ่ายใดแล้วทันตามข้อสัญญานั้น  สถานที่นั้นจะได้เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ  ชาวเมืองหนองหานน้อยก็เหมือนกัน  พระยาสุวรรณภิงคาร พระยาคำแดง ทั้ง ๒ พระองค์ก็ทรงเห็นชอบด้วย  ครั้นถึงวันกำหนด จึงลั่นฆ้องขึ้นให้เป็นสัญญาแก่กัน

       ฝ่ายหญิงชาวเมืองหนองหานหลวงและหญิงชาวเมืองหนองหานน้อย จึงรวมกำลังกันก่ออุโมงค์แข่งขันกับฝ่ายชาย  หญิงทั้งหลายจึงกล่าวขึ้นเป็นคำอวดอ้างว่า ถึงแม้ผู้ชายก็มีมือ ๒ มือ และมีนิ้วข้างละ ๕ นิ้วเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าผู้ชายมีมือประดุจดังพระนารายน์นั้นเล่า กล่าวดังนั้นแล้ว ก็ลงมือก่อ

       ฝ่ายชายชาวหนองหานหลวงอวดอ้างว่า ตัวมีกำลังยิ่งกว่าฝ่ายหญิง ซ้ำก่อขัว๒หินเพิ่มขึ้นอีกขัวหนึ่ง ยาว ๑๐๐ วา กว้าง ๕ วา ไปบรรจบตีนดอยแท่น แล้วก่อเป็นบันไดแก้วขึ้นไป

       ทันใดนั้น ยังมีชายผู้เฒ่าคนหนึ่งอยู่ในหมู่นั้นด้วย จึงพูดขึ้นว่า  ให้ก่ออุโมงค์ให้แล้วทันดาวเพ็กขึ้นเสียก่อน เมื่อหินมีเหลือจึงก่อขัวและบันไดแก้วต่อไป เขาทั้งหลายก็มิได้เชื่อฟังถ้อยคำ จึงกล่าวแก่ผู้เฒ่านั้นว่า  ทำไมจะไม่ทัน ยิ่งกว่าทันไปเสียอีก  เขาทั้งหลายกล่าวดังนี้แล้วก็ลงมือก่อ อุโมงค์นั้นก่อเป็นรูปเตาขึ้นไว้ทั้ง ๔ ด้าน แต่ฝาไป่ทันก่อ  พอผ่านพุ่มบารมี ส่วนหินที่ขนเอามายังไม่ทันถึงนั้น

  • เชิงอรรถ ๑ ดาวประกายพฤกษ์  ๒ “ขัว” สะพาน

ลางก้อนโตเท่าเสื่อกะลา๑ ลางก้อนเท่าแถบ เจาะเป็นรูทุกก้อน ไว้สำหรับหาบหิ้ว

       ขณะนั้น ฝ่ายหญิงเห็นฝ่ายชายจะก่อแล้วก่อน จึงแต่งกันเป็นพวกเป็นหมู่ ออกไปพูดจา เล้าโลมเย้าหยอก พวกชายที่กำลังขนหินอยู่นั้น  ชายเหล่านั้นเห็นหญิงมากระทำเช่นนั้น ก็พากันวางหินกองไว้ ณ ที่นั้น แล้วแต่งกันขึ้นไปบนดอยที่ก่ออุโมงค์ ทำโคมจุดไฟขึ้นแขวนไว้  จึงกล่าวกันว่าดาวเพ็กขึ้นแล้วๆ แล้วก็พากันตามหญิงไป  แม้ผู้ที่ก่ออยู่บนดอยนั้นรู้ก็ตามกันลงไปหมดสิ้น  ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นั้น จึงจ่ม๒ว่าแค้นใจแท้ และที่เขากองหินไว้นั้น คนทั้งหลายจึงได้เรียกชื่อว่า แค้นแท้ มาจนกาลบัดนี้

       เมื่อก่อนพระศาสดาจะเสด็จเข้าสู่นิพพานนั้น พระยาติโคตรบูรม้างเบญจขันธ์ได้ไปเกิดเป็นราชบุตรพระยาสาเกตนคร ทิศตะวันตกเมืองติโคตรบูร  เมื่อนางเทวีพระยาสาเกตนครจะทรงครรภ์นั้น นิมิตรเห็นพระสุริยอาทิตย์เข้ามาในปรางค์ปราสาท แล้วเปล่งรัศมีออกทั้ง ๔ ทิศ เป็นลำพุ่งขึ้นไปสู่ทิศตะวันออก  เมื่อทรงครรภ์ถ้วนทศมาสแล้วก็ประสูติ  เมื่อราชกุมารมีอายุได้ขวบหนึ่ง พระบิดาจึงให้ชื่อว่า เจ้าสุริยกุมารตามนิมิตร ตั้งแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาบ้านเมืองรุ่งเรืองยิ่งนัก  ผู้คนก็บังเกิดทวีมากขึ้นทุกวัน บมิได้มีอันตราย ด้วยบุญสมภารแห่งเจ้าสุริยกุมารนั้น

  • เชิงอรรถ ๑ “เสื่อกะลา” เสื่อลำแพน  ๒ “จ่ม” บ่น

       ครั้งนั้น พระยาสาเกตนครและพระยากุรุนทนครเป็นสัมพันธมิตรซึ่งกันและกัน  พระยาสาเกตนครจึงพารี้พลโยธาไปเล่นมหรสพอยู่ในเมืองกุรุนทนคร ละทิ้งเจ้าสุริยกุมารไว้ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี จนถึงอายุ ๑๖ ปี  พระยากุรุนทนครผู้พระสหาย จึงแบ่งบ้านเมืองให้กับพระยาสาเกตนครครึ่งหนึ่ง

       อยู่มาวันหนึ่ง พระยาทั้ง ๒ กำลังมีงานมหรสพสมโภชพระรัตนตรัยอยู่  ขณะนั้นยังมีฤษีตนหนึ่ง ชื่อ ฐิตะกัปปี มาจากป่าหิมพานต์โดยทางอากาศ ลงมานั่งอยู่ท่ามกลางพระยาทั้ง ๒ ๆ เห็นดังนั้น จึงตรัสสั่งให้อำมาตย์จัดหาโภชนาหารมาถวายฤษีๆบริโภคเสร็จแล้ว จึงทูลถามพระยาทั้ง ๒ ว่า พระองค์ทั้ง ๒ มีความปรารถนาสิ่งใด  พระยาทั้ง ๒ จึงบอกว่า ขาทั้ง ๒ มีความปรารถนาอยากจะไปทางอากาศได้ ดังเจ้ากูนั้นนั่นแหละ (ขา/อาจจะเป็นคำว่า ข้า/ผู้พิมพ์)

       ขณะนั้น ฐิตะกัปปีฤษี จึงทูลว่า  ถ้าเช่นนั้น มหาราชทั้ง ๒ จงละเพศอันเป็นพระยานั้นเสีย ทรงผ้าขาวรักษาศีล ๘ แล้วถือเอาง้าว๑มงคลไปเก็บเอาเครื่องยาแต่ป่าหิมพานต์มาให้ได้ตามกำหนด เป็นต้นว่า  หมากนาวสีหนัก ๓ หาบ เครืออมรณีหนัก ๓ หาบ หมากขัดเค้าหนัก ๓ หาบ หนามพญาหนัก ๓ หาบ  เครื่องยาเหล่านี้ให้เก็บวันอังคารในเวลาฤกษ์ยามดีจึงเก็บ และอย่าได้พาบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งไปด้วยเป็นอันขาด  เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาพร้อมแล้ว เราจะ

  • เชิงอรรถ ๑ “ง้าว” พระแสงดาบ

ประกอบยาพละสิทธิเพทให้อม

       พระยาทั้ง ๒ ก็ทรงปฏิบัติตามคำฤษีทุกประการ แล้วจึงพร้อมกันไปเก็บเครื่องยามาได้พร้อมทุกสิ่ง  ฤษีจึงเอาเครื่องยาเหล่านั้นใส่หม้อเหล็กตั้งเหนือก้อนเส้าทองคำ แล้วไปเอาน้ำออกบ่อ๑ ๓ บ่อ และไปเอาน้ำในแม่น้ำที่เป็นมงคลอีก ๓ แห่ง และน้ำที่สระพังอีก ๓ สระพัง มาผะสมใส่หม้อต้ม ให้เอาไม้นาวสี ไม้ขัดเค้า ไม้ส้มผ่อ๒ และไม้คูน เป็นฟืนต้มเคี่ยวให้ข้น  เมื่อเย็นแล้วจึงเอาน้ำยานั้นใส่ไว้ในขันเงินเลียง  จึงตกแต่งเครื่องปัญจราชกกุธภัณฑ์ไว้  ครั้นถึงวันอังคารจึงเอาบาเพ็ชร์๓ใส่เบ้าสุมด้วยถ่านไม้นาวสี ไม้ขัดเค้า ไม้ส้มผ่อ ไม้คูน ให้ได้ ๓ คืน ๓ วัน แล้วรองเอาน้ำอันนั้นให้ได้ ๑๓๓ หยด เอามาผะสมเสกด้วยมนต์  เมื่อฤษีกระทำพิธีเสร็จแล้ว จึงราชาภิเษกพระยาสาเกตนคร ให้เป็นพระยาสีอมรณี ตามฤทธิยาและมนต์นั้น

       ส่วนพระยากุรุนทนครนั้น ราชาภิเษกให้เป็นพระยาโยธิกา  ฤษีจึงเอาน้ำยานั้น มานวดคั้นตามพระสรีระพระยาทั้ง ๒ แล้วจึงเอาบาเพ็ชร์นั้นให้พระยาทั้ง ๒ อมองค์ละลูก มีฤทธิเหาะไปในทางอากาศได้และมีรูปงดงามยิ่งนัก  น้ำยาที่เหลือนั้น เอาให้ช้างให้ม้าให้คนกิน ช้างแต่ละตัวมีกำลังเดินไปได้วันละ ๔๐๐ โยชน์ ม้า

  • เชิงอรรถ ๑ “น้ำออกบ่อ” ในที่นี้หมายถึงน้ำพุ  ๒ “ไม้ส้มผ่อ” ไม้ข่อย  ๓ “บาเพ็ชร์” ปรอท

แต่ละตัวมีกำลังเดินได้วันละ ๒๐๐ โยชน์ ควาญช้างและนายม้านั้นมีกำลังเดินไปได้วันละ ๑๐๐ โยชน์

       แล้วฤษีจึงสั่งกับพระยาทั้ง ๒ ว่าตั้งแต่นี้ไป พระองค์ทั้ง ๒ อย่าได้พรากจากกันไป  จงพากันอยู่เสวยราชสมบัติในเมืองกุรุนทนครนี้จนตลอดชีวิต  เมื่อว่าพระองค์ทั้ง ๒ จากที่นี้เมื่อใด และใส่พระทัยว่าจักไปจากพระนครอันนี้แท้ ฤทธิกำลังก็จักเสื่อมเสียสิ้น  ยาพละสิทธิเพทนี้ กินที่ใดอยู่ที่นั้น

       พระยาทั้ง ๒ จึงไหว้ว่า  ผู้ข้าอยู่ด้วยกันจักมีอายุยืนประมาณเท่าใด  ฤษีทูลว่า ยานี้มิใช่ยาอายุวัฒฑนะ เมื่อพระองค์ปรารถนาจะให้มีพระชนมายุยืน จงไปอยู่ที่ป่าหิมพานต์กับด้วยเรา  เมื่อว่าปฏิบัติถูกต้องตามทาง  เมื่อจุติ ก็จักได้ไปบังเกิดเป็นท้าวพระยา เสวยราชสมบัติมีความสุข

       บัดนี้ พระองค์ทั้ง ๒ จงเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครที่นี้ก่อน  เราหากจักมารับเอาพระองค์ทั้ง ๒ ในภายหน้า  ว่าแล้วฐิตะกัปปิฤษีจึงสอนเวทมนต์ให้แก่พระยาทั้ง ๒ และสั่งไว้ว่า ให้แต่งยาสิทธิเพทอันนี้ให้เจ้าสุริยกุมารเสวย แล้วพระฤษีจึงปงราชนามเมืองนั้นว่า “เมืองศรีอโยธยา” ด้วยเหตุที่เอาหมากนาวสีและหมากขัดเค้าหนามพญามาเข้าในพิธีราชาภิเษกพระยาทั้ง ๒ นั้น เป็นนิมิต แล้วเจ้าฤษีจึงกลับคืนไปสู่ป่าหิมพานต์ที่เก่าโดยทางอากาศ

       ครั้งนั้น เจ้าสุริยกุมารมีอายุได้ ๑๖ ปี คอยพระยาตนพ่อ

  • เชิงอรรถ -

อยู่ในพระนครถึง ๓ ปี เห็นว่าพระบิดาไม่กลับมา จึงได้พารี้พลโยธาไปทูลเชิญพระบิดาให้กลับคืนมาสู่พระนคร  พระบิดาก็มิได้ตรัสสั่งกับด้วยพระโอรสแต่อย่างใด แต่ปฏิสัณฐานกับด้วยพระยาโยธิกาผู้สหายว่า  เราทั้ง ๒ ไม่ควรจักละคำพระฤษีตนเป็นครู  บัดนี้ โอรสของเรามาถึงพระนครนี้แล้ว  โอรสองค์นี้ เมื่อนางเทวีแรกจะทรงครรภ์  เธอนิมิตรเห็นพระอาทิตย์เข้ามาในปรางค์ปราสาท แล้วเปล่งรัศมีออกทั้ง ๔ ทิศ เป็นลำพุ่งไปสู่ทิศตะวันตก ก็สมกับด้วยบุญสมภารของเขาแล้ว ที่พระฤษีมาโปรดเราทั้ง ๒ ก็เป็นมงคลอันหนึ่ง และเราทั้ง ๒ ได้เวทมนต์อันประเสริฐนี้ ก็ด้วยบุญสมภารของพระโอรสองค์นี้

       บัดนี้ เราทั้ง ๒ จงช่วยกันปรุงยาสิทธิเดชให้เจ้าสุริยกุมารกินตามคำสั่งสอนของฐิตะกัปปิฤษีผู้อาจารย์ แล้วเราทั้ง ๒ จงพร้อมกันราชาภิเษก เจ้าสุริยกุมารโอรสของเราให้กลับคืนไปเสวยราชสมบัติในเมืองสาเกตนครตามเดิม  ส่วนเราทั้ง ๒ ก็สมมุติตนเป็นอนุแก่เจ้าสุริยกุมาร แล้วพร้อมกันพารี้พลไปกระทำอิทธิฤทธิ ให้เหมือนจะกระทำยุทธกรรมเอาบ้านเมืองให้ท้าวพระยาในชมพูทวีปเข้ามาอ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้นแก่เจ้าสุริยกุมาร  เมื่อทรงปฤกษาตกลงแล้ว ก็พากันไปสู่ภูเขาลูกหนึ่ง ผ่อ๑หาเครื่องยาที่ฤษีได้บอกไว้นั้น  ก็ได้เครือเขามวก นมราชสีห์ รากคูณ ต้นส้มผ่อ เครืออมรณี ขมิ้นขึ้น๒ ในภูเขาลูก

  • เชิงอรรถ ๑ “ผ่อ” มอง  ๒ “ขมิ้นขึ้น” ขมิ้นอ้อย

นั้นๆ จึงได้ชื่อว่าภูพญาพ่อ ผ่อเอายา เมื่อได้เครื่องยามาสมประสงค์แล้ว จึงปรุงยานั้นขึ้นให้ชื่อว่ายาสิทธิเดชให้เจ้าสุริยกุมารเสวย  เมื่อพระกุมารได้เสวยยาสิทธิเดชแล้ว ก็เกิดมีกำลังและอานุภาพ พร้อมทั้งพระสรีระก็งดงามยิ่งนัก

       พระยาศรีอมรณีและพระยาโยธิกาทั้ง ๒ จึงพร้อมกันราชาภิเษกเจ้าสุริยกุมารให้เป็นพระยาสุริยวงศาสิทธิเดช แล้วประทานช้างตัว ๑ ม้าตัว ๑ พร้อมทั้งควาญและนายม้าที่มีฤทธิ กับทั้งอำมาตย์ข้าทาษบริพาร มี ออกขุนพลเทพ เป็นต้น  มีครัวหญิงชายน้อยใหญ่มาด้วยออกขุนพลเทพ ๕,๐๐๐ ครัว  ออกขุนพรหมมีครัวมาด้วย ๕,๐๐๐ ครัว  ออกขุนบุญขวางมีครัวมาด้วย ๕,๐๐๐ ครัว   ออกขุนโลกบาลมีครัวมาด้วย ๕,๐๐๐ ครัว  อำมาตย์ที่ออกนามมาแล้วข้างต้นนี้ ให้มาอยู่ช่วยดูแลรักษาช้างม้าในเมืองสาเกตนคร

       ตั้งแต่นั้นมา พระยาสุริยวงศาสิทธิเดชก็กลับคืนมาสู่พระนคร เสวยราชสมบัติบ้านเมืองแทนพระราชบิดาสืบต่อมา แล้วพระองค์ตรัสสั่งให้ออกขุนทั้งหลายที่ตามเสด็จมานั้น ตั้งบ้านสร้างเมืองอยู่ตามความพอใจ มิให้มีความเดือดร้อน  เมื่อถึงฤดูกาลเดือน ๖ ฝนตก  พืชข้าวกล้าก็งอกออกมาทั่วพระราชอาณาจักรของพระองค์  ถึงแม้ว่า ส้มสูกลูกไม้ กล้วย อ้อย หมาก พลู พร้าว ตาล หวานส้ม สรรพทั้งมวลก็บังเกิดขึ้นมาเป็นนิจกาลบมิได้ขาด  คนทั้งหลายบมิได้กระทำไร่ไถนาค้าขาย  ถึงฤดูกาลฝน บุคคลผู้ใดมีความปรารถนา

  • เชิงอรรถ –

อยากจะได้เท่าใด ก็ไปรักษาเอาพืชข้าวกล้าไว้ แล้วเก็บเกี่ยวนวดขนเอาไปใส่เล้าใส่เยีย๑ไว้ตามความพอใจ

       พืชผลที่บังเกิดขึ้นที่กล่าวแล้วข้างต้นนี้ ก็ด้วยอานิสงส์ผลที่พระองค์ได้ใส่บาตรพระศาสดา เมื่อครั้งพระองค์เป็นพระยาติโคตรบูร  ที่พระองค์มีกำลังนั้น ก็ด้วยอานิสงส์ที่ได้อุ้มบาตรแต่พระราชวังของพระองค์ไปถวายพระศาสดาที่ต้นรังครั้งโน้น

       ครั้งนั้น อาณาประชาราษฎรทั้งหลายที่เป็นชาวต่างประเทศเห็นว่าพระราชอาณาจักรของพระยาสุริยวงศาสิทธิเดชสมบูรณ์ไปด้วยเครื่องอุปโภคและบริโภค ก็พากันหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งบ้านเรือนอยู่คราวละเล็กคราวละน้อยบ่มิได้ขาด  แต่นั้นมาผู้คนในพระราชอาณาจักรของพระองค์จึงมีมาก และเป็นราชธานีใหญ่กว่าราชธานีท้าวพระยาทั้งหลาย มีจำนวนพลเมืองที่ใช้ราชการได้ ๔,๗๘๙,๐๐๐ คน

       ครั้งนั้นพระองค์ทรงตั้งอำมาตย์ขึ้นหลายคน  คนที่ ๑ มีนามว่าหมื่นพืชโลก ให้มีบริวาร ๕๐,๐๐๐ คน  ครั้นถึงฤดูกาล พืชข้าวกล้า ส้มสูก ลูกไม้ บังเกิดขึ้น  ให้หมื่นพืชโลกและบริวารเป็นผู้ดูแลแบ่งปันให้แก่พลเมืองทั้งหลาย เพื่อป้องกันมิให้บังเกิดการทะเลาะวิวาทซึ่งกันและกัน  คนที่ ๒ ทรงตั้งนายอโนชิตให้เป็นหมื่นกลางโรง เป็นคนดูแลในพระราชฐานทั้งสิ้น  คนที่ ๓ ทรงตั้ง

  • เชิงอรรถ “เล้าเยีย” ยุ้งฉาง

อำมาตย์อีกผู้หนึ่งสำหรับจัดการบ้านเมืองให้ชื่อว่าหมื่นหลวงกลางเมือง  คนที่ ๔ ทรงตั้งให้เป็นหมื่นชุมนุมเมือง  คนที่ ๕ ทรงตั้งให้เป็นหมื่นรามเมือง  นับตั้งแต่คนที่สามถึงคนที่ห้า  ทั้ง ๓ คนนี้เป็นใหญ่กว่าเสนาทั้งหลาย  ส่วนหมื่นแก่นั้น ให้เป็นผู้ว่ากล่าวตักเตือนราษฏรชาวเมืองและสร้างรั้วเวียงกำแพงพระนครมีบริวาร ๕๐,๐๐๐ คน

       แล้วพระองค์ทรงสร้างพระพุทธศาสนาวัดวาอาราม กระตึบ๑ กระฏี วิหาร ก่อด้วยหินมุกด์เป็น ๖ ชั้น  มีสัณฐานประดุจดังชั้นฟ้าทั้ง ๖ เจาะเป็นร้อยเอ็จประตู รุ่งเรืองงามยิ่งนัก เหมือนเมื่อครั้งพระศาสดายังทรงทรมานอยู่  คณนานับพระภิกษุสงฆ์ในพระนคร ๒๐๐,๐๐๐ รูป สามเณร ๑๓๐,๐๐๐ รูป ผ้าขาวดาบศ ๗๗,๙๐๐ คน และทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งให้เป็นผู้ดูแลฝ่ายพระพุทธศาสนาให้ชื่อว่า ขุนปฏิบัติ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

       ส่วนพระพุทธศาสนานั้น  ทรงสร้างไว้ให้ห่างจากคามนิคม มิให้เจือปนไปด้วยผู้คนทั้งหลาย เว้นแต่ผู้ชายที่เป็นผู้อุปฐาก  ชาวไทยเมืองเชียงดง ให้ส่งไม้เท้าและตักน้ำฉัน  ชาวไทยบ้านเชียงแก้ว ให้อุปฐากพระรัตนตรัย  ชาวไทยบ้านกระโดน ให้ฟั่นเปลือกกระโดนโตเท่าแข้งมาเป็นชุดสุมไฟไว้  เมื่อพระสงฆ์สามเณรต้องการไฟขึ้นเมื่อใดให้ได้เมื่อนั้น  ชาวไทยเมืองกระท่างให้ดูแลรักษาหนทางสำหรับ

  • เชิงอรรถ ๑ “กระตึบ” กุฏิ

พระสงฆ์ไปบิณฑบาตร  ชาวไทยบ้านบั้งจี่สีถาน ให้กระทำบั้งไฟดอก๑จุดบูชาเป็นปกติทุกวันศีล๒  ลำดับเมืองน้อยทั้งนี้มีคน ๑๕๐,๐๐๐ คน ให้หมื่นนันทาอารามเป็นใหญ่  ส่วนหมื่นพระน้ำรุ่งนั้นมีบริวาร ๑๕๐,๐๐๐ คน สำหรับตักน้ำถวายพระสงฆ์ชำระให้พอวันหนึ่งคืนหนึ่งทุกวันไป  หมื่นเชียงสามีบริวาร ๕๐,๐๐๐ คน สำหรับหาดอกไม้เครื่องบูชาในเวลาเย็นจงทุกวันไป

       ส่วนกุฎีวิหารที่ใดสลักหักพัง ให้หมื่นนันทาอาราม หมื่นพระน้ำรุ่ง หมื่นเชียงสา ทั้ง ๓ คนนี้ พร้อมกันไปเรียนปฏิบัติ  หมื่นหลวงกลางเมือง หมื่นชุมนุมเมือง และหมื่นรามเมืองให้แจ้ง และให้ท่านทั้ง ๓ ที่ออกนามมานี้ พร้อมกันไปเรียนปฏิบัติหมื่นกลางโรง  เมื่อได้รับอาชญาจากหมื่นกลางโรงแล้ว ให้พร้อมกันปฏิบัติตามอาชญานั้นให้ดีให้ชอบจงทุกประการ

       ส่วนราษฎรทั้งหลายนอกนั้น ให้หมื่นแก่เป็นหัวหน้า ก่อสร้างกำแพงพระนคร และให้มีประตูร้อยเอ็จประตู และให้สร้างสะพานข้ามในที่อันควรข้ามจงทุกแห่ง  กิติศัพท์อันนี้ก็ปรากฏไปทั่วทิศานุทิศ

       พระยาศรีอมรณีและพระยาโยธิกา ทรงปิติยินดีในบุญบารมีของพระยาสุริยวงศาสิทธิเดชเป็นอันมาก  ทั้ง ๒ พระองค์จึงพารี้พลไปกระทำอิทธิฤทธิทางอากาศ ประดุจดังจะกระทำยุทธกรรมเอาบ้านเมือง เพื่อให้ท้าวพระยาร้อยเอ็จพระนครเกรงพระบารมี และบอกกล่าวให้

  • เชิงอรรถ ๑ “บั้งไฟดอก” ไฟพะเนียง  ๒ “วันศีล” วันพระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น